Tuesday, March 31, 2015



ธรรมนูญครอบครัว


สืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างไรให้รุ่งและรอดจากรุ่นสู่รุ่น?



ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเล็กหรือครอบครัวใหญ่ การมีธรรมนูญครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยกเว้นหัวหน้าครอบครัวที่คิดลบ ไม่หวังและไม่เชื่อว่าครอบครัวของตนจะเจริญขึ้น หรือมีความมั่นคงแข็งแรงต่อไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน

– บุญเกียรติ โชควัฒนา

            
          ใครคือผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในธุรกิจครอบครัว?
           
          เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ผู้มีบารมี” 
          
          ผู้มีบารมีมีความสำคัญต่อธุรกิจครอบครัวมาก เพราะผู้มีบารมีจะช่วยทำให้ครอบครัว “นิ่ง” เขาจะเป็นผู้สร้างกติกาในบ้าน ยุติความขัดแย้ง และเชื่อมคนในตระกูลเข้าด้วยกัน แต่การมีผู้มีบารมีที่เข้มแข็งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อ เขาไม่อยู่แล้วความนิ่งก็จะกลายเป็นความไม่นิ่ง ปัญหาที่เคยถูกกดทับไว้ก็จะได้เวลาแสดงตัว ไม่มีใครใหญ่กว่าใครอีกต่อไป และไม่มีใครต้องเกรงใจใครอีกต่อไป นั่นคือจุดที่ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวจะประทุขึ้นมา ดังนั้น การมี ผู้มีบารมีคนใหม่ขึ้นมาทดแทนเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกครอบครัว แต่ “บารมี” นั้นเกิดจากความยอมรับจากสมาชิก ไม่สามารถให้กันได้ แต่งตั้งกันไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรกันดี?

ผมได้เสนอ ทางออกทางหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัยกันมามากในต่างประเทศว่าสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัวธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านผู้นำรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นถัดไป นั่นก็คือ ธรรมนูญครอบครัว” หรือกติกาในการอยู่และทำงานร่วมกันของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว ซึ่งในวันนี้ ผมจะขออนุญาตนำข้อสรุปบางประการจากหนังสือเล่มใหม่ของผมที่มีชื่อว่า ธรรมนูญครอบครัว : เขียนอย่างไรให้สำเร็จหรือ How to Successfully Write the Right Family Constitution[1] มาแบ่งปันกันในวันนี้

     

1. อย่านั่งรอโชคชะตา ถ้าอยากให้ ธุรกิจและครอบครัวรอด

อยากให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดต้องทำยังไง
นี่คือคำถามแรกที่เพื่อนเก่ายิงใส่ผมเมื่อรู้ว่าผมทำงานอะไร ...สิ่งแรกที่คนทำธุรกิจมักจะคิดถึงก็คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจรอด แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้วสิ่งที่อยากให้ รอดอาจไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่อาจรวมไปถึงครอบครัวด้วย
รอดคืออะไร?” ผมถามเพื่อนกลับด้วยความสงสัย ครอบครัวต้องไม่แตกกัน...นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แล้วธุรกิจล่ะ? ผมสงสัย ขอไม่ให้เจ๊งแล้วทุกคนต้องไปเริ่มศูนย์ใหม่ก็พอ และนี่คือที่มาของแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ที่บวกกับความเชื่อที่ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวและความสำเร็จทางธุรกิจสามารถเดินไปด้วยกันได้
            “ครอบครัวต้องไม่แตกกันและธุรกิจต้องรอด สะท้อน 2 เป้าหมายสูงสุดของทุกธุรกิจครอบครัวนั่นก็คือ
1) ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งผมขอเรียกว่า “Happy Family”
2) ความสำเร็จที่ต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัว หรือที่ผมขอเรียกว่า “Healthy Business”
           
ทำอย่างไรให้ทั้งสองสิ่งนี้เดินควบคู่กันไปได้?”
นี่คือความท้าทายของธุรกิจครอบครัวซึ่งมากกว่าธุรกิจทั่วไปที่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จเป็นสำคัญ แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัวถือเป็นเป้าหมายอีกด้านหนึ่งซึ่งสำหรับหลายๆ ครอบครัวแล้วมันสำคัญยิ่งกว่า ความสำเร็จทางธุรกิจเสียอีก และสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่านก็คือวิธีการเขียน ธรรมนูญครอบครัวซึ่งถือเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการทำให้ธุรกิจครอบครัวให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งสองไปพร้อมๆ กัน

2. เข้าใจให้ถูก: ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่ พินัยกรรม และไม่ใช่การแบ่งมรดก!

หลายครั้งมักเกิดความสับสนว่าการเขียนธรรมนูญครอบครัวก็คือการเขียนพินัยกรรมนั่นเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด! ถ้าหากจะอธิบายความแตกต่างของธรรมนูญครอบครัวและพินัยกรรมให้ชัดเจนแล้วละก็ เราอาจแจกแจงความแตกต่างกันได้ ดังนี้
·       พินัยกรรมมักจะถูกเขียนขึ้นโดยเจ้าทรัพย์ (เจ้ามรดก) เพียงคนเดียว ในขณะที่ธรรมนูญครอบครัวจะร่วมกันเขียนทั้งครอบครัว
·       พินัยกรรมมักถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะเปิดเผยเมื่อเจ้าของทรัพย์เสียชีวิต ต่างจากธรรมนูญครอบครัวที่เกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิก จึงเป็นเรื่องที่เปิดเผยอย่างชัดเจนกับทุกคนในครอบครัว
·       ความขัดแย้ง (หากมี) มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากเจ้าของทรัพย์เสียชีวิตแล้ว ในขณะที่ธรรมนูญครอบครัว หากจะมีความขัดแย้งขึ้นก็ยังเกิดในช่วงที่เจ้าของทรัพย์ยังมีชีวิตอยู่
·       หากความขัดแย้งลุกลามหาข้อยุติไม่ได้อาจต้องพึ่งศาลให้ตัดสินในเรื่องพินัยกรรม แต่ความขัดแย้งในธรรมนูญครอบครัวนั้น โดยทั่วไปจะยังอยู่ในวิสัยที่สมาชิกสามารถแก้ไขร่วมกันได้
อย่างไรก็ดี ธรรมนูญครอบครัว มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดสรรทรัพย์สินของครอบครัวอย่างเป็นระบบ เพราะในธรรมนูญครอบครัวมักจะมีเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรหุ้นของธุรกิจครอบครัวหรือทรัพย์สินอื่นๆ ของตระกูล ซึ่ง เกณฑ์หรือกติกาที่กำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัวจะช่วยทำให้การ แบ่งมรดกหรือการเขียนพินัยกรรมง่ายขึ้นมาก ช่วยลดความลำบากใจของเจ้าของทรัพย์ในการแบ่งทรัพย์สินต่างๆ (เพราะแบ่งร่วมกัน) ซึ่งรวมถึงหุ้นของบริษัทที่จะให้กับลูกหลานด้วย ทำให้เหลือทรัพย์สินที่จะกลายเป็นมรดกน้อยลง ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากความขัดแย้งในเรื่อง มรดกเมื่อเจ้าทรัพย์ถึงแก่กรรม

3. ลอก ธรรมนูญ บ้านอื่นได้ แต่ช่วยปรับด้วย!

            เพื่อไม่ให้ต้องเริ่มนับหนึ่ง ครอบครัวอาจลองหาต้นแบบกติกาในธุรกิจครอบครัวอื่นๆ แล้วต่อยอดจากตรงนั้น แต่คำถามสำคัญก็คือแล้วครอบครัวไหนล่ะคือต้นแบบของธรรมนูญครอบครัว? และพวกเขาจะยอมแบ่งปันให้เราไหม? หนังสือเล่มนี้จึงมาควบคู่กันไประหว่าง (1) วิธีการ ออกแบบธุรกิจครอบครัวจากขั้นที่ 1 จนถึงขั้นสุดท้าย พร้อมกับ (2) ตัวอย่างของธรรมนูญครอบครัวที่ถือเป็นต้นแบบของกติกาในธุรกิจและครอบครัว โดยยกเอาธรรมนูญครอบครัวที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ชัดเจนมากที่สุด และเห็นผลสำเร็จแล้วคือครอบครัวไม่แตกแยกและธุรกิจเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ ธรรมนูญของครอบครัว จิราธิวัฒน์ ที่ผู้เขียนได้พยายามอย่างยิ่งที่จะสรุปออกมาเป็นหัวข้อสำคัญต่างๆ ทั้งสิ้น 6 หัวข้อ ข้อมูลทั้งหมดได้มาจากการสัมภาษณ์โดยตรงจากทายาทตระกูลจิราธิวัฒน์ในรุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัว[2] แต่ก็ครอบครัวก็ต้องตระหนักว่า ตัวอย่างก็คือ ตัวอย่าง เสื้อที่นางแบบใส่แล้วสวย เราเอามาใส่บ้างอาจไม่สวยเหมือนที่นางแบบใส่ ครอบครัวจึงต้องนำต้นแบบนั้นมาปรับให้เข้ากับตนเอง เข้ากับครอบครัวของเรา

            ดังนั้น เพื่อให้ครอบครัวที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว สามารถนำความรู้ไปใช้ในการเขียนธรรมนูญของครอบครัวตนเองได้แบบ Custom-Made ผู้เขียนจึงได้แบ่งหนังสือออกเป็น 3 ส่วนเพื่อให้เข้าใจง่ายในลักษณะ WHY-WHAT-HOW ดังนี้

ส่วนแรก: ทำไมต้องธรรมนูญครอบครัว (WHY) จะมุ่งตอบคำถามสำคัญที่ว่า
ธรรมนูญครอบครัวคืออะไร?”
ทำไมต้องมีธรรมนูญครอบครัว?”
ธรรมนูญครอบครัวอาจเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับธุรกิจครอบครัวในไทย แต่จริงๆ แล้วแก่นแท้ของธรรมนูญครอบครัวนั้นก็คือ กติกาในการอยู่และทำงานร่วมกันในครอบครัวดังนั้น กติกาดังกล่าวจึงมีประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัวไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ มีจำนวนสมาชิกมากหรือน้อย ธรรมนูญครอบครัวมีความสำคัญในแง่ของการป้องกันความขัดแย้งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกครอบครัวมาทำธุรกิจร่วมกัน สถานการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ (A) ธุรกิจทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ (B) ความสัมพันธ์ที่แย่ทำลายธุรกิจ การหมั่นตรวจเช็คว่าธุรกิจครอบครัวท่านกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ (A) หรือ (B) หรือไม่ด้วยการเช็ค สัญญาณอันตรายธุรกิจครอบครัว และการหมั่นตรวจเช็คตนเองว่ามี ทัศนคติที่เป็นภัยต่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวหรือไม่ จะช่วยตอบคำถามที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ครอบครัวจะต้องมีธรรมนูญซะที?” 

ส่วนที่สอง: เขียนอะไรในธรรมนูญครอบครัว (WHAT) พยายามจะตอบคำถามเหล่านี้
เขาเขียนอะไรกันบ้างในธรรมนูญครอบครัว
จำเป็นต้องเขียนให้หมดทุกเรื่องเลยหรือ
ในส่วนที่สองของหนังสือจะมุ่งไปที่หัวข้อสำคัญต่างๆ ที่ธุรกิจครอบครัวควรใส่ไว้ใน ธรรมนูญครอบครัวโดยเพื่อให้เห็นภาพ บ้านธรรมนูญจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ส่วนของธรรมนูญครอบครัว ได้แก่ (1) รากฐานของบ้านอันประกอบไปด้วยการสื่อสาร การตัดสินใจร่วมกัน และการระงับความขัดแย้ง (2) การสืบทอดธุรกิจครอบครัว (3) การให้ค่าตอบแทนแก่สมาชิกที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว (4) การบริหารจัดการเงิน กงสี” (5) การจัดการ หุ้นของธุรกิจครอบครัว และ (6) การดูแลรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว
           
ส่วนที่สาม: เขียนธรรมนูญครอบครัวอย่างไร (HOW) จะมุ่งเน้นตอบคำถามเหล่านี้
            อยากมีธรรมนูญครอบครัว จะเริ่มต้นอย่างไร?”
            “ยังไงถึงจะเรียกว่าได้ธรรมนูญครอบครัวที่ดี?”
            “มีตัวอย่างไหม?”
            เมื่อเห็นความสำคัญและรู้ว่าจะต้องเขียนอะไรบ้างลงในธรรมนูญครอบครัวแล้ว คำถามต่อมาก็คือแล้วจะเริ่มต้นกันอย่างไร? ในส่วนที่ 3 นี้ จะแนะนำแนวทางการการเขียนธรรมนูญครอบครัวอย่างเป็นขั้นตอน แต่การเขียนธรรมนูญก็มีความยากในตัวของมันเอง เพราะหลายครั้งที่เรื่องที่จะคุยกันจะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดชัดเจน เช่น จะแบ่งหุ้นให้ลูกหลานยังไงจึงจะยุติธรรม? หรือเป็นหน้าที่ของลูกหรือไม่ที่จะต้องมาสืบทอดธุรกิจของครอบครัว? คำถามดังกล่าวไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยการโหวต หรือการประนีประนอมก็ไม่อาจตอบโจทย์ได้ กระบวนการสานเสวนาครอบครัวจึงเข้ามาเพื่อช่วยหาคำตอบสำหรับโจทย์ยากๆ เหล่านี้          
            ทั้ง 3 ส่วนของหนังสือจะช่วยให้ผู้อ่านพอเห็นแนวทางในการเขียนธรรมนูญอย่างเป็นระบบ และสามารถเริ่มต้นได้ด้วยครอบครัวตนเอง

4. ธรรมนูญครอบครัว” เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ...ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอื่นๆ

จริงๆ แล้ว ธรรมนูญครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่ใหญ่กว่าซึ่งเรียกว่า การวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว” (Succession Planning for the Family Business) คือการส่งผ่านธุรกิจครอบครัวจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งในต่างประเทศมีการศึกษากันอย่างจริงจัง กว้างขวาง แต่ในประเทศไทยต้องเรียกว่ายังมีการศึกษาเรื่องนี้กันน้อยอยู่เมื่อเทียบกับศาสตร์ในด้านการบริหารธุรกิจแขนงอื่นๆ
หลายคนถามผมว่าการเขียนธรรมนูญครอบครัวที่สุดท้ายก็คือกระดาษกองหนึ่งจะไปสามารถบังคับอะไรใครได้? ถามว่าบทลงโทษจะทำกันได้จริงหรือ?
คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วก็จะเข้าใจว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของธรรมนูญครอบครัวก็คือการเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวได้มา คุยกันในเรื่องที่ควรคุยเป็นเสมือนการจำลองสถานการณ์ว่าถ้าเกิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้น ครอบครัวจะตัดสินใจกันยังไง คุยกันก่อนจะเกิดเรื่อง ทะเลาะกันในเรื่องที่ยังไม่เกิด (เพราะเมื่อเป็นปัญหาจริงๆ แล้ว มักจะไม่มีโอกาสมาคุยกันแล้ว) เมื่อเราได้คุยกันในเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ เช่น การแบ่งหุ้น การกำหนดเงินเดือนและผลตอบแทนต่างๆ การจัดการเงินกงสี หรือการวางตัวผู้สืบทอดในกิจการต่างๆ ของครอบครัว แล้วนั้น ข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น
·       การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ในธุรกิจครอบครัวแล้วไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์
·       การกำหนดฐานเงินเดือน เกณฑ์การให้โบนัส และค่าตอบแทนต่างๆ แล้วประกาศเป็นระเบียบบริษัท
·       การจัดระเบียบเงินกงสี แล้วระดมเงินสมาชิกครอบครัวไปเปิดบัญชีธนาคารหรือตั้งกองทุน มีการกำหนดผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงิน เซ็นเช็ค ชัดเจน (เบิกจ่ายตามกติกาที่ได้ตกลงกัน)
·       การวางตัวผู้สืบทอด แล้วสื่อสารออกไปให้พนักงานและคู่ค้ารับทราบเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความต่อเนื่องของธุรกิจ
รูปธรรมเหล่านี้ต่างเป็นผลมาจากข้อตกลงที่สมาชิกมีต่อกันและอยู่ในธรรมนูญครอบครัว ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเสมือนต้นธารของสายน้ำที่จะพัฒนาต่อไป ให้กฎครอบครัวมีความศักดิ์สิทธิ์และมีผลบังคับได้ในความเป็นจริง
           
            นายไม่ต้องมาจ้างเราหรอกผมคิดในใจ ขอให้อ่านเล่มนี้ให้จบนะแล้วค่อยมาว่ากัน หนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายเพื่อจุดประกายให้ครอบครัวต่างๆ ตระหนัก ตื่นตัว พร้อมทั้งมีแนวทางที่จะเริ่มต้นเขียนธรรมนูญครอบครัวด้วยตนเอง ให้ครอบครัวได้พอเห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์ว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถและความตั้งใจจริง การเริ่มศึกษาหาความรู้ในเรื่องศาสตร์ของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างที่ผู้อ่านกำลังทำอยู่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสุดวิเศษแล้ว 

สรุปประเด็นสำคัญ

1    1)      อย่านั่งรอโชคชะตา ถ้าอยากให้ ธุรกิจและครอบครัวรอด   
2    2)      เข้าใจให้ถูก: ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่ พินัยกรรม และไม่ใช่การแบ่งมรดก!
3    3)      ลอก ธรรมนูญ บ้านอื่นได้ แต่ช่วยปรับด้วย!
4    4)      ธรรมนูญครอบครัวเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ...ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอื่นๆ ที่ทำให้ธรรมนูญครอบครัวมีผลบังคับใช้จริง


นวพล วิริยะกุลกิจ
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว ผู้บริหารสถาบัน แฟมิลี่ บิสสิเนส เอเชีย (Family Business Asia) และเป็นผู้อำนวยการร่วมของหลักสูตร “Happy Family, Healthy Business” โดยสถาบัน แฟมิลี่ บิสสิเนส เอเชีย และโรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ jaynavaphol@gmail.com

แหล่งข้อมูล
·       นวพล วิริยะกุลกิจ ธรรมนูญครอบครัว เขียนอย่างไรให้สำเร็จสำนักพิมพ์การเงินธนาคาร 2557




[1] โดยสำนักพิมพ์การเงินธนาคาร ธันวาคม 2557
[2] ต้องขอขอบพระคุณ ศ.คร. สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการสภาตระกูลจิราธิวัฒน์และทายาทรุ่นที่สองของตระกูล และ คุณปริญญ์ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารเงินกงสีของครอบครัวและหนึ่งในคลื่นลูกที่ 3 ของครอบครัวจิราธิวัฒน์ มาอีกครั้ง ณ ที่นี้ที่ช่วยแบ่งปันความรู้

No comments:

Post a Comment