ธุรกิจครอบครัวของชาวจีนโพ้นทะเลที่กระจายตัวอยู่ทั่วเอเชียถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยมีนักธุรกิจเชื้อสายจีนในกลุ่ม
NIES (Newly Industrialized Economies) เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นคลื่นลูกแรกตามมาด้วยคลื่นลูกที่สอง
ได้แก่ นักธุรกิจเชื้อสายจีนใน ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย
และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่างจีน และกลุ่มนักธุรกิจจีนในคลื่นลูกที่สาม เช่น เวียดนามที่กำลังไล่ตามมาติดๆ
บทเรียนการบริหารธุรกิจแบบ “จีนโพ้นทะเล”
เมื่อพลวัตของเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนที่มายังเอเชีย
จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่าครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่มีรากของวัฒนธรรมประเพณีจีน แต่ได้อพยพออกจากประเทศจีนมาอยู่ในประเทศต่างๆ
ในเอเชียที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดแบบทุนนิยมนั้นเขามีจุดกำเนิด การเติบโต และการสืบทอดธุรกิจกันอย่างไรจึงสามารถพัฒนากลายเป็นธุรกิจข้ามชาติที่ยิ่งใหญ่ได้ดังเช่นในปัจจุบัน
วันนี้เราจะมาเรียนรู้ “สไตล์การบริหารธุรกิจครอบครัว” แบบชาวจีนโพ้นทะเลผ่านกรณีศึกษา
5 ธุรกิจครอบครัวจีนในสิงคโปร์ที่ได้มีการศึกษาไว้โดย Fock Siew
Tong[1]
ซึ่งสามารถสรุปบทเรียนออกได้เป็น
5 ข้อสำคัญ ได้แก่
1. ธุรกิจครอบครัวจะ “โต”
ได้ต้องรู้จักใช้ “มืออาชีพ”
และทำธุรกิจที่ตนชำนาญหรือมีความได้เปรียบคนอื่นๆ
ธุรกิจครอบครัวจีนต้นแบบที่เราศึกษาใช้วิธีกระจายอำนาจบริหารให้กับผู้บริหารคนนอก
หรือ “มืออาชีพ” ที่ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ หรืออย่างที่ในอดีตเรามักจะเรียกว่า “หลงจู้”
โดยไม่เกี่ยงว่าพวกเขาไม่ใช่คนนามสกุลเดียวกันกับเจ้าของ
เพื่อสลายข้อจำกัดในด้านการบริหารงาน นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวจีนยังเน้นการทำธุรกิจในกิจการที่ตนมีความชำนาญพิเศษและมีความได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปทักษะความรู้ในเชิงลึกที่คนอื่นไม่มี
เครือข่ายและพันธมิตรในการทำธุรกิจ โดยที่การเติบโตของธุรกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วหากมีการร่วมมือกับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
(Strategic Partner) ที่เป็นบริษัทข้ามชาติหรือนักลงทุนที่สามารถช่วยขจัดข้อจำกัดทางเทคนิค
ข้อจำกัดทางการเงิน รวมถึงช่วยขยายตลาดได้ต่อไป
ธุรกิจครอบครัวที่ต้องการเติบโตจึงต้องเน้นในเรื่องการหา
“คนนอก” ที่เก่งและไว้ใจได้เข้ามาช่วยในกิจการครอบครัว รวมถึงการโพกัสในธุรกิจที่ครอบครัวมีความได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ
ในตลาดและคอยมองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนที่ขาด
2. ผสานการบริหารงานแบบ “ตะวันตก” เข้ากับ “ตะวันออก”
การบริหารแบบตะวันตกเชื่อที่ว่า
“ความเป็นเจ้าของ” และ “การบริหาร” ควรถูกแยกออกจากกันให้ชัดเจนเพื่อความสำเร็จของธุรกิจนั้น
อาจไม่จำเป็นเสมอไปภายใต้สไตล์การบริหารและแนวคิดแบบผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก
ยกตัวอย่างเช่น
· การวางโครงสร้างการบริหารงานแบบแบนราบ (Flat Management Structure) ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการตัดสินใจของธุรกิจครอบครัวมีความรวดเร็ว
แต่ก็ให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล (Check
& Balance) โดยการให้ผู้บริหารหรือที่ปรึกษาที่เป็น “คนนอก” เข้ามาร่วมในการตัดสินใจเพื่อแก้ “จุดอ่อน
4 ประการ” ของธุรกิจครอบครัว
ได้แก่ (1) ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ของธุรกิจครอบครัว (2) การขาดวินัยทางการเงิน (3) การไร้ความสามารถในการฉวยโอกาสทางธุรกิจ
(4) การเอาแต่ญาติพี่น้อง
(Nepotism) ในธุรกิจครอบครัว
· การให้ “มืออาชีพ”
เข้ามาช่วยเหลือ “ทายาท” พัฒนาและขยายธุรกิจ ซึ่งนอกจากหน้าที่ประจำแล้ว
“หลงจู้” ยังมีหน้าที่ช่วยอบรม ดูแล ประคับประคองทายาทของครอบครัวให้มีความรู้
ความสามารถเพียงพอที่จะสืบทอดธุรกิจต่อไป
3. ผสาน “ระบบคุณค่าของชาวจีน” กับ “วิธีการบริหารสมัยใหม่”
ระบบคุณค่าสำคัญที่ติดตัวมาจากแผ่นดินแม่ถือเป็นส่วนสำคัญที่กำหนด
“ยุทธศาสตร์ธุรกิจ” ของนักธุรกิจจีนในยุคแรกๆ อันมีรากฐานสำคัญมาจากลัทธิขงจื้อ
(Confucian Values) เช่น ความขยันอดทน ความประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ย่อท้อแม้มีอุปสรรคขวางหน้า
คุณค่าพื้นฐานเหล่านี้รวมถึงรากทางวัฒนธรรมพื้นฐานของชาวจีนก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะตัวของธุรกิจครอบครัวจีนที่สำคัญ
4 ประการ คือ
·
กระบวนการตัดสินใจแบบรวมศูนย์
ที่ครอบครัวมีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จทั้งเป็นเจ้าของ (Owner) และเป็นผู้บริหาร
(Manager) เอง ทำให้ไม่ต้องถูกไล่บี้จากผู้ถือหุ้นนอกครอบครัว และสามารถอดทนรอผลตอบแทนการลงทุนที่ดีแต่ใช้เวลานาน
(กว่าจะคืนทุน) ได้
·
การบริหารโดยเครือญาติใกล้ชิด
เนื่องจากความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเครือญาติ และญาติพี่น้องถือเป็นแรงงานที่ทำงานหนักแต่จ้างได้
ถูกกว่า จ้างคนภายนอก
·
Know-who คือหัวใจ การบริหารความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันถือเป็นหัวใจของความสำเร็จเชิงธุรกิจในระยาวของสังคมชาวจีน
โดยความสัมพันธ์จะอยู่ในรูปของการให้และรับความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
·
การทำธุรกิจด้วยความพอดี (Moderation) คือไม่มากไม่น้อยเกินไป
ไม่สุดโต่ง ตั้งตนอยู่บนความมีเหตุและมีผล (Reasonableness) ไม่ใช่แค่เหตุผล
(Reason) ซึ่งถือเป็นแกนกลางของแนวคิดของลัทธิขงจื้อ
ระบบคุณค่าสำคัญ รวมถึงลักษณะเฉพาะตัวดังกล่าวยังคงถูกถ่ายทอดต่อไปยังผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นที่สอง
แต่ด้วยความที่ผู้นำรุ่นที่สองส่วนมากได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นและยังได้รับเอาแนวคิดการบริหารธุรกิจแบบ
“โลกตะวันตก” เข้ามาด้วย ทำให้เมื่อเขาเหล่านั้นเข้ามาทำงานในกิจการของครอบครัว
ระบบคุณค่าดั่งเดิมที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาจึงถูกนำมาผสมผสานเข้ากับการบริหารธุรกิจสมัยใหม่
ตัวอย่างของการผสมผสาน เช่น
· การให้โอกาสสมาชิกครอบครัวสำหรับตำแหน่งบริหารระดับสูง แต่ก็ยังต้องพิจารณาควบคู่ไปกับคุณสมบัติทางธุรกิจ
(Professional Qualifications) จุดสนใจ (Interest) ของทายาท และความชอบหรือไฟ (Passion) ในการทำธุรกิจครอบครัวด้วย เป็นต้น
· การนำเอามืออาชีพ (Professional) เข้ามาช่วยกิจการครอบครัวและใช้มืออาชีพนั้นเป็นเสมือน
“Change Agent” ที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการสมัยใหม่ และใช้ระบบการดูแลพนักงานและมืออาชีพเสมือนเป็นญาติพี่น้องในครอบครัว
ช่วยดูแลรักษาพนักงานที่ซื่อสัตย์ซึ่งร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มากับคนรุ่นพ่อโดยไม่ทอดทิ้ง เป็นต้น
· การดูแลรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าและเครือข่ายธุรกิจที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้
และใช้มันอย่างต่อเนื่องในการทำธุรกิจของครอบครัว
· การรับเอาแนวคิด และ Best Practices รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในการทำธุรกิจครอบครัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
เป็นต้น
การผสมผสานคุณค่าและวัฒนธรรมของชาวจีนให้เข้ากับการบริหารสมัยใหม่ถือเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของธุรกิจครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่ประสบความสำเร็จ
4. ส่งมอบธุรกิจครอบครัวให้ทายาทที่มีหัวใจ “ผู้ประกอบการ”
ทายาทที่มีหัวใจเป็น “ผู้ประกอบการ”
คือ
ทายาทที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจากภายใน (Inner Passion) ที่ต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจ และมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของธุรกิจของตน เขาเหล่านั้นคือผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะสืบทอดธุรกิจครอบครัวในรุ่นถัดไป
แรงปรารถนาของทายาทซึ่งต้องการจะเป็นผู้ประกอบการมาจากความรู้สึกลึกๆ
ที่ไม่ต้องการจะทำงานเพื่อใครคนอื่นอีกนอกจากตนเอง
และแรงขับที่ต้องการจะปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันให้ดียิ่งๆ
ขึ้นไปอีก
ความสำเร็จของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวของชาวจีนโพ้นทะเลจึงมีพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งมาจาก
“ความเป็นผู้ประกอบการ” ในตัวผู้นำรุ่นถัดไป
รวมถึงความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ที่มีจุดแข็ง ทักษะ
และความรู้ที่แตกต่างกัน แต่ส่งเสริมกันเพื่อความสำเร็จร่วมกันในธุรกิจครอบครัว
5. เตรียมการส่งมอบธุรกิจอย่างมีขั้นตอนตั้งแต่ทายาทเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว
ต้องเข้าใจว่าการส่งมอบธุรกิจครอบครัวมีลักษณะเป็น
“กระบวนการ” มีขั้นมีตอนโดยขั้นตอนที่สำคัญที่สุดจะเป็นในช่วงที่ทายาทเริ่มเข้ามาทำในธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว
โดยธุรกิจครอบครัวจีนที่ศึกษามีแนวปฏิบัติร่วมกันที่สำคัญ ดังนี้
(1) เมื่อเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว พ่อแม่ควรวางตัวทายาทในตำแหน่งที่จะได้
“เรียนรู้งาน” โดยขึ้นอยู่กับจุดแข็งจุดอ่อนของทายาทเองเพื่อเสริมในส่วนที่ขาด
หรือพัฒนาต่อยอดในส่วนที่เป็นจุดแข็ง ก่อนที่จะวางตัวพวกเขาเหล่านั้นในตำแหน่ง “ผู้สืบทอด”
ที่มีความรับผิดชอบและความกดดันสูงต่อไป
(2) พ่อแม่หรือผู้นำธุรกิจครอบครัวทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล
(Mentor) ให้แก่เหล่าทายาทที่เข้ามาทำงาน รวมถึงการสร้างบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทายาทด้วยกันเพราะจะทำให้กระบวนการสืบทอดดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น
(3) ทายาทควรได้รับโอกาสในการแสดงฝีมือเพื่อสร้างความมั่นใจในตนเอง
(Confidence) และความเชื่อมั่น (Credibility) ต่อสมาชิกครอบครัวและพนักงาน
ตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ของชีวิตการทำงานในธุรกิจครอบครัวเพื่อปูทางสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงต่อไป
(4) สุดท้ายถ้าทายาทได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีความสามารถที่เพียงพอจะบริหารธุรกิจครอบครัวต่อไป
ทางเลือกที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการที่ไม่ให้พวกเขาเข้ามาบริหารงาน
เพราะจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
และนั่นก็คือ “เคล็ดลับ”
บางส่วนของการบริหารธุรกิจครอบครัวสไตล์ชาว
“จีนโพ้นทะเล” ที่พวกเราสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้
การก็อปปี้แนวคิดตะวันตกและนำมาใช้โดยไม่ “ประยุกต์”
เลยอาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในธุรกิจและครอบครัวได้ การเอาส่วนที่ดีจากโลกตะวันออกและโลกตะวันตกมาผสมผสานกันน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลสามารถเติบใหญ่และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างราบรื่นต่อไป
สรุปข้อคิดการบริหารธุรกิจครอบครัวแบบชาวจีนโพ้นทะเล
1. ธุรกิจครอบครัวจะ “โต” ได้ต้องรู้จักใช้ “มืออาชีพ”
และทำธุรกิจที่ตนชำนาญหรือมีความได้เปรียบคนอื่นๆ
2. ผสานการบริหารงานแบบ “ตะวันตก” เข้ากับ “ตะวันออก”
3. ผสาน “ระบบคุณค่าของชาวจีน”
กับ “วิธีการบริหารสมัยใหม่”
4. ส่งมอบธุรกิจครอบครัวให้ทายาทที่มีหัวใจ
“ผู้ประกอบการ”
5.
เตรียมการส่งมอบธุรกิจอย่างมีขั้นตอนตั้งแต่ทายาทเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว
[1]
งานศึกษาของ Fock
Siew Tong ได้มาจากการวิเคราะห์ธุรกิจครอบครัวชาวจีนในสิงคโปร์จำนวน
5 ครอบครัว
ได้แก่ Eu Yan Sang International Limited, The Hour Glass Limited, Hong
Leong Group (Singapore), Qian Hu Corporation Limited และ Popular Holdings Limited
No comments:
Post a Comment