ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่มักมีแนวคิดการทำงานและการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ และความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนสองรุ่นนี้เองที่อาจกลายสภาพเป็น
"ฝันร้าย” ของสมาชิกครอบครัวทุกคนเมื่อต้องเข้ามาทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัว
แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร? วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการ
“เปิดใจ” แล้ว “พูดคุย” กัน
ผมอยากจะชวนให้ครอบครัวลองเริ่มต้นพูดคุยกันโดยอาจเริ่มจากคำถามบางคำถามต่อไปนี้ที่ผมในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวได้รวบรวมไว้และสรุปออกมาในรูปแบบของ “10 คำถามที่ทายาทธุรกิจครอบครัวอยากรู้มากที่สุด”
1. พ่อแม่คาดหวังอะไรจากลูกๆ?
“ความคาดหวัง” เป็นปัญหาหนักอกของทายาทธุรกิจครอบครัวทุกคน
ด้วยความที่เป็นลูกเจ้าของธุรกิจ ความคาดหวังในตัวทายาทจึงมาจากทุกสารทิศ
แต่ที่เหล่าทายาทธุรกิจหนักใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความคาดหวังจากครอบครัวนั่นเอง
ความคาดหวังที่ไม่ชัดเจน
ไม่ได้มีการพูดกันตรงๆ และการคิดไปเองของพ่อแม่ว่าลูกๆ คงรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่คาดหวังอะไร
ทำให้หลายต่อหลายครั้งความคาดหวังของคนรุ่นพ่อแม่กับเหล่าทายาทไม่ตรงกัน
เกิดเป็นความไม่เข้าใจซึ่งสร้างความกดดันให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง
ความคาดหวังของพ่อแม่จึงเป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่เหล่าทายาทธุรกิจครอบครัวอยากรู้มากที่สุด
ซึ่งการได้พูดคุยกันอย่างเปิดอกน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคำถามข้อนี้
2. ถ้าลูกไม่ทำงานที่บ้านเลยได้มั้ย?
การทำธุรกิจครอบครัวบางครั้งก็ไม่ใช่อุดมคติของเหล่าทายาท
ลูกๆ หลายคนได้รับการศึกษาอย่างดี มีโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้านอื่นที่ตนสนใจอยู่มากมาย
แต่ต้องกลับมาทำงานที่บริษัทหรือโรงงาน มีแต่ลูกน้องไม่มีเพื่อน
มีแต่ความกดดันจากคนรอบข้าง ทำดีคือเสมอตัว
ดังนั้น ทายาทหลายคนจึงมองเห็นโอกาสของการให้ มืออาชีพ
(Professional)
เข้ามาช่วยบริหารงานแทน
ทายาทมักให้ความสำคัญต่อความเหมาะสมของมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถเหมาะกับงานซึ่งน่าจะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าไปได้อย่างดีที่สุด
แล้วมองตนเองว่าเป็น “เจ้าของหรือผู้ถือหุ้น”
ที่คอยให้นโยบายแก่มืออาชีพที่เข้ามาบริหาร
การให้มืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจึงเป็นเหมือน “Win-Win
Solution” ในสายตาของทายาท
แต่คนรุ่นพ่อแม่จะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่
จึงเป็นสิ่งที่ทายาทอยากได้ยินจากครอบครัว
3. พอใจกับผลงานของลูกหรือไม่
และอยากให้ลูกปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อให้ดีขึ้น?
เมื่อเข้ามาช่วยงานสักระยะแล้ว
คำถามสำคัญที่ทายาทแทบทุกคนอยากจะรู้ก็คือ
แล้วคุณพ่อคุณแม่พอใจผลงานของพวกเขาหรือไม่ “ฟีดแบ๊ก” (Feedback) หรือความเห็นของพ่อแม่ต่อผลงานของพวกเขาเหล่านี้
แม้บางครั้งจะเป็นสิ่งที่โหดร้าย แต่เหล่าทายาทต่างก็อยากจะได้ยินเพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไข
และข้างล่างนี้ก็คือฟีดแบ๊กบางส่วนที่ได้รับมาจากคุณพ่อคุณแม่ ทายาทธุรกิจลองรับฟังกันดูครับ
“อยากให้ลูกตั้งใจทำงาน
ศึกษางานให้ดีๆ”
“ให้ปรับเวลาทำงานให้เหมือนกับชาวบ้านชาวช่องเค้า”
“อยากให้ลูกจัดลำดับความสำคัญของงานกับเรื่องส่วนตัวให้ชัดเจน”
“ให้สร้างบารมีและความไว้เนื้อเชื่อใจของคนรอบตัวให้ได้”
“...ใจเย็นๆ”
“ก็ลองทำดู
ถ้าไม่ไหวเดี๋ยวพ่อแม่กลับมาช่วย!!”
สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือการที่พ่อแม่ไม่เอาลูกมาเปรียบเทียบกับตนเอง
เพราะไม่มีใครเหมือนใคร ความสามารถที่ทำให้พ่อแม่ประสบความสำเร็จในวันนั้น
อาจไม่ใช่ความสามารถที่จะทำให้ทายาทประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ดังนั้น ลูกๆ
อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนคุณ 100% เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ
เขาอาจตื่นสายและยังประสบความสำเร็จอย่างมากมายในเส้นทางและวิธีของเขาได้
4. คิดว่าลูกพร้อมจะสืบทอดธุรกิจของครอบครัวหรือยัง?
อีกคำถามสำคัญที่ทายาทอาจติดค้างในใจ
คือคำถามที่ว่าคุณพ่อคุณแม่คิดว่าพวกเขา ‘พร้อม’
แล้วหรือยังกับการเป็นผู้นำองค์กรแห่งนี้ แล้วพวกท่าน “มั่นใจ” ในตัวทายาทมากน้อยแค่ไหน ? ทายาทบางคนอาจมีคำถามที่สะท้อนความสับสนในใจ
เช่น “เมื่อไหร่จะเห็นเราเป็นผู้ใหญ่ (ซะที)?!!”
เมื่องานเริ่มทยอยเข้ามามากขึ้น
ความรับผิดชอบก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์อยู่ที่คนรุ่นก่อนไม่ได้กระจายออกมาให้เหล่าทายาทซักที ประกอบกับการ Override อำนาจการตัดสินใจของทายาทจากพ่อแม่ก็ยิ่งสร้างปั่นป่วนใจให้กับทายาท
คำถามสำคัญของพ่อแม่ก็คือทายาทพร้อมแล้วหรือยังกับความเป็นผู้นำ
“แล้วลูกคิดว่าพร้อมหรือยัง
และจะพร้อมเมื่อไหร่?”
“คิดว่าลูกพร้อมแล้ว
แต่...ยังต้องศึกษางานต่อเนื่องอีกเยอะ”
“ลูกๆ
ก็ต้องพิสูจน์มาก่อนจนกว่าพ่อแม่จะไว้ใจ”
“ก็เมื่อไหร่ที่พ่อแม่คิดว่าลูกพร้อมก็นั่นแหละ
...น่าจะอีกซัก 4-5 ปี...”
“ก็เมื่อแบงค์ยอมปล่อยสินเชื่อโดยพ่อแม่ไม่ต้องค้ำ!!”
คำตอบต่างๆ
ของพ่อแม่ได้สะท้อนความคิดที่อยู่ลึกๆ ออกมา
ซึ่งดูเหมือนว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีใครอยากจะทำงานต่อไปนานๆ
เพราะต่างก็เหนื่อยกันมามาก แต่ก็ติดที่ยังเป็นห่วง ยังรู้สึกว่าลูกๆ
ยังไม่พร้อมนั่นเอง
ทางออกของเหล่าทายาทจึงอยู่ที่การสร้างความมั่นใจให้เหล่าพ่อแม่ให้เกิดขึ้นให้ได้
5. มีแผนจะเกษียณเมื่อไหร่ และได้วางแผนส่งมอบธุรกิจแล้วหรือยัง?
ทายาทหลายๆ คนคงอยากถามคุณพ่อคุณแม่ตรงๆ ว่า “เมื่อไหร่จะวางมือซักที?”
คำตอบก็จะวนไปที่ข้อก่อนหน้านี้ คือ พ่อแม่ยังไม่ไว้วางใจในตัวทายาท
หรือเห็นว่าทายาทยังไม่พร้อมเป็นต้น
ในมุมของทายาทธุรกิจที่อยากจะรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีแผนที่จะเกษียณตัวเองจากธุรกิจเมื่อไหร่
สาเหตุหนึ่งก็เพื่อจะได้รู้กำหนดเวลาที่ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนชีวิตของตนเองได้
และอีกอย่างก็เพื่อที่จะได้วางแผน “รับมอบธุรกิจครอบครัว” ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
เพราะการเปลี่ยนถ่ายผู้นำนั้น
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้การผลัดใบเป็นไปอย่างราบรื่น
ลูกๆ บางคนยังมีคำถามต่อไปอีกว่า “หลังจากเกษียณแล้ว
จะยังเข้ามาข้องเกี่ยวกับธุรกิจอีกไหม? ในรูปแบบไหน?”
“พ่อแม่เกษียณแล้วจะไปทำอะไร?” เรียกว่า เป็นการมองปัญหาอย่างครบวงจรเลยทีเดียว
6. ถ้าลูกทำธุรกิจครอบครัว 'เจ๊ง' รับได้หรือไม่ ?
คำถามสำคัญถูกยิงออกมาว่า
“แล้วถ้าลูกทำ
(ธุรกิจครอบครัว) เจ๊ง จะรับกันได้หรือไม่” อันนี้ไม่ต้องถามก็พอจะรู้คำตอบกันได้ไม่ยาก
แต่คำถามนี้ก็เหมือนเป็นการสะกิดให้คนรุ่นพ่อแม่ฉุกคิดบ้างว่า
การรับช่วงสืบทอดธุรกิจครอบครัวนั้น มันไม่ได้มีแต่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียว
ความล้มเหลวก็มีความเป็นไปได้ และต้องการชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่า ความสามารถในการทำธุรกิจนั้น
ไม่ได้สืบทอดกันทางสายโลหิต หรือ DNA
ลูกของนักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิก ก็ไม่จำเป็นจะต้องวิ่งเร็วได้เท่ากับพ่อแม่
“ถ้าทำแล้วไม่เวิร์คจะเอายังไง ?” คือคำถามต่อเนื่อง ดังนั้น
หากรักที่จะเห็นลูกของตนเข้ามาทำหน้าที่สืบทอดธุรกิจต่อ ก็ต้องเผื่อใจกันไว้
หรือไม่ก็ต้องเตรียมแผนสองไว้บ้าง เผื่อสุดท้ายลูกของตนไปไม่ไหวจริงๆ
จะได้ไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจทีหลัง
7. เมื่อไหร่จะบอกซะทีว่ามีหนี้สิน-ทรัพย์สินเท่าไหร่
และอยู่ที่ไหนบ้าง?
ความสับสน กังวล
และความไม่รู้ในสถานะที่แท้จริงทางการเงินของธุรกิจและครอบครัวก็เป็นอีกประเด็นที่สร้างความอึดอัดให้กับทายาทธุรกิจ
“อย่าห่วง...ถึงเวลาแล้วจะบอก”
คำตอบเช่นนี้
ไม่สามารถช่วยคลายความสงสัยของเหล่าทายาทได้
ในความเป็นจริงเมื่อลูกๆ ได้รู้ว่า ธุรกิจครอบครัวสามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก
และยังมีโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปได้อีก
ก็จะสามารถสร้างแรงดึงดูดให้ทายาทอยากเข้ามารับช่วงต่อได้ไม่ยาก
ในขณะที่หากธุรกิจไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดี เป็นหนี้เป็นสินมาก ก็จะเป็นข้อมูลให้ลูกๆ
ได้ตัดสินใจบนข้อมูลที่เป็นจริงเหล่านี้แต่เนิ่นๆ ดีกว่าให้ต้องมาตัดสินใจพร้อมๆ
กับตกใจกันในภายหลัง
8. จะจัดการเรื่อง เงินเดือน หุ้น เงินปันผล ที่ดิน
และจะแบ่งธุรกิจในครอบครัวอย่างไร?
การจัดการเรื่องเงินๆ
ทองๆ เป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนใจมากสำหรับทายาทธุรกิจครอบครัว เพราะลูกหลานคนที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอาจถูกมองไปในทางที่ไม่ดีได้ง่ายๆ
ทั้งๆ
ที่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวแตกแยกกันมาแล้ว
ความชัดเจนของนโยบายการแบ่งผลประโยชน์จากการทำธุรกิจจะช่วยป้องกันและลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายในครอบครัวได้
คำถามเช่น เงินเดือนของลูกๆ ควรอยู่ในระดับใด?
เทียบเคียงกับพนักงานอื่นๆ ในบริษัทแล้วเป็นอย่างไร? จะประเมินผลงานลูกๆ
อย่างไร?
หุ้นและเงินปันผลจะแบ่งให้แต่ละคนเท่าไหร่?
เมื่อไหร่? ใช้เกณฑ์อะไร?
ที่ดินจะใช้ชื่อใครเป็นคนถือโฉนด?
ธุรกิจไหนจะให้ลูกคนไหน?
เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่จะต้องยกมาพูดคุยให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต
9. มีนโยบายให้ เขย สะใภ้
หรือญาติเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวอย่างไร?
การบริหารสมาชิกญาติพี่น้องในกิจการครอบครัวถือเป็นสิ่งท้าทาย
และเป็นประเด็นที่ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องแตกสลาย พี่น้องไม่มองหน้ากันมานักต่อนัก
การวางแผนเรื่อง “คน” ในธุรกิจจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำครอบครัวไม่อาจละเลย
เหล่าทายาทต่างต้องการรู้ถึงนโยบายเรื่อง เขย สะใภ้ หรือญาติๆ ในกิจการครอบครัว
หากยังไม่มีการกำหนด
ครอบครัวควรหาเวลามานั่งคุยกันเพื่อกำหนดเป็นแนวทางที่เข้าใจร่วมกัน
จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร
แต่อยู่ที่สมาชิกของครอบครัวได้มีเวลามาพูดคุยร่วมกันมากกว่า หรือที่เรียกว่า “กระบวนการ”
สำคัญกว่า
“ผลลัพธ์”
นั่นเอง
10. จะทำอย่างไรถ้าไม่มีคนสืบทอดธุรกิจครอบครัว?
“ถ้าลูกๆ ไม่เอาธุรกิจครอบครัว ขายได้หรือเปล่า
?”
“แล้วมีแผนรองรับหรือเปล่าถ้าไม่มีลูกคนไหนเลยอยากทำธุรกิจครอบครัว?”
คำถามเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามที่ทำให้คนรุ่นพ่อแม่นั่งเงียบกันไปขณะหนึ่ง
อาจจะนิ่งเพื่อคิดหาคำตอบ ใคร่ครวญในสิ่งที่ผ่านมา
หรืออาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมานั่งคิดถึงปัญหานี้!
ส่วนคำตอบอาจเป็น การหามืออาชีพมาบริหารแทน
การขายกิจการออกไป หรือการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับทุกครอบครัว
เพราะสุดท้ายแล้วแต่ละครอบครัวต่างก็มีคำตอบที่เหมาะที่สุดสำหรับตนเอง
การวิจัยอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่เหล่าทายาทสงสัย
เพียงแต่ความถี่ยังไม่สามารถเทียบชั้นกับคำถาม 10 ข้อข้างต้น ยกตัวอย่างคำถาม เช่น
“ทำพินัยกรรมแล้วหรือยัง?” “เมื่อไหร่จะเขียนธรรมนูญครอบครัว?” “แล้วถ้ามีธรรมนูญแล้วจะเคารพธรรมนูญนั้นหรือไม่?” “มีสมาชิกครอบครัวที่ยังไม่เปิดเผยหรือเปล่า?”หลายคำถามก็คงจะต้องไปพูดคุยกันในครอบครัวต่อไป
ผมก็ได้แต่หวังว่าคำถามที่ได้จากวิจัยในครั้งนี้จะช่วยกระตุกต่อมคิดของผู้นำธุรกิจครอบครัวและอาจได้ลองนำไปเป็นหัวข้อในการพูดคุยอย่าง
“เปิดใจ” เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้นในครอบครัว
.... แล้วคุณละอยากถามอะไรคุณพ่อคุณแม่?
.... แล้วคุณละอยากถามอะไรคุณพ่อคุณแม่?
No comments:
Post a Comment