“เป็นเรื่องธรรมดาของทุกครอบครัวที่คนที่มีหุ้นมากก็อาจจะอึดอัดที่ตัวเองไม่ได้ใช้แล้วคนอื่นมาใช้
หรือคนที่มีลูกเยอะแต่หุ้นน้อยก็จะแฮปปี้ อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ครอบครัวไปได้ด้วยดี
สมาชิกครอบครัวก็จะต้องเสียสละบ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่กันไม่ได้”
ปริญญ์ จิราธิวัฒน์
#สวัสดิการครอบครัว ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการ #บริหารจัดการธุรกิจครอบครัว เพราะสวัสดิการของครอบครัวเกี่ยวข้องกับการใช้เงินของ #กงสี โดยตรง และเป็นเรื่องที่กระทบกับความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัวโดยรวม
แนวคิดเรื่อง
“สวัสดิการครอบครัว” อาจเทียบเคียงได้กับแนวคิด
“รัฐสวัสดิการ”
ซึ่งเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศที่กำหนดให้ภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้จัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สำคัญให้แก่ประชาชน
ซึ่งจะพบได้มากในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน นอรเวย์ ฟินแลนด์ หรือเดนมาร์ค
เป็นต้น
ลักษณะเด่นของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการคือการให้สวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเต็มที่
และรัฐก็เก็บภาษีอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน เช่น อัตราภาษีบุคคลธรรมดา (Personal
Income Tax) ในกลุ่มคนรายได้สูงของสวีเดนและเดนมาร์คอยู่ในระดับเกือบ
60 เปอร์เซ็นต์ (อัตราภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่อัตราเฉลี่ยฯ
ของโลกอยู่ที่ประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดรัฐสวัสดิการขึ้นก็เพื่อแก้ไขปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลกยุคปัจจุบัน
“สวัสดิการครอบครัว”
พยายามแก้ไขปัญหาเดียวกันนั่นก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่ในขอบเขตที่เล็กกว่าคือเพียงแค่ในระดับครอบครัว
สวัสดิการครอบครัวคืออะไร?
สวัสดิการครอบครัวหมายถึง “สิทธิประโยชน์”
(Benefits) ที่บุคคลได้รับอันเนื่องจากการเป็นสมาชิกของครอบครัว
สิทธิประโยชน์จะอยู่ในรูปของ ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย ค่าเล่าเรียนสำหรับลูกหลานในตระกูล
เงินเดือนสำหรับผู้สูงอายุในครอบครัว เงินช่วยเหลือสำหรับสมาชิกว่างงาน เป็นต้น สวัสดิการครอบครัวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้สมาชิกในตระกูลมีความเป็นอยู่โดยทั่วไปใน
“ระดับที่ดี” หรือ “ยอมรับได้” ไม่ยากจนข้นแค้นจนต้องไปทำงานหรือทำสิ่งที่อาจจะส่งผลเสียหายต่อชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
“แนวคิดที่แตกต่าง” อุปสรรคสำคัญของการจัดสวัสดิการครอบครัว
“ทำไมจะต้องมาจัดสวัสดิการร่วมกัน
ต่างคนต่างไปดูแล (ครอบครัว) ตัวเองไม่ดีกว่าหรือ?”
การจัดสวัสดิการในอีกมุมหนึ่งก็คือการที่ครอบครัวนำเงินมารวมกันเป็นกองกลางแล้วกำหนดให้มีการกระจายเงินจากกองกลางนั้นๆ
ออกมาในรูปของ “สวัสดิการ” ในรูปแบบต่างๆ
คำถามสำคัญก็คือ “ทำไมจะต้องนำเงินมากองรวมกันแล้วค่อยๆ แบ่งออกไป ทำไมไม่ให้แต่ละคนบริหารจัดการเงินของตัวเองหรือครอบครัวย่อยๆ
ของตัวเอง” ผมเคยพูดคุยกับผู้นำธุรกิจครอบครัวๆ หนึ่งซึ่งตั้งเป้าหมายสำคัญของการบริหารธุรกิจครอบครัวไว้คือการแบ่ง
“ทรัพย์สินกองกลาง” ทั้งหมดของครอบครัวให้พี่น้องแต่ละคนไปบริหารจัดการกันเอง
ไม่ให้เหลือสิ่งที่เรียกว่า “กองกลาง” อีก
เพราะเขาเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยลดโอกาสความขัดแย้งระหว่างพี่น้องในเรื่องเงินๆ ทองๆ
ลงได้
เราจึงต้องกลับมาที่ประโยชน์พื้นฐานของการมีสวัสดิการครอบครัวซึ่งก็คือการเป็นหลักประกันใน
“คุณภาพชีวิต” ของสมาชิกครอบครัว ซึ่งในเวลาปกติเขาก็สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี
แต่ในยามที่เขาเกิดเจ็บป่วย หรือเกิดพลาดพลั้งทางธุรกิจซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดสนอย่างกะทันหัน
หรือเกิดประสบเหตุเภทภัย เขาและครอบครัวก็ยังจะมี “ฟูก”
รองรับ
สวัสดิการครอบครัวเป็นมากกว่า “ประกันหมู่”
แต่ถ้าไม่นับหน้าที่ของการเป็น “หลักประกัน” ในชีวิตให้แก่สมาชิกครอบครัวแล้ว สวัสดิการครอบครัวยังจะมีประโยชน์อะไรอีก?
หลายๆ ครอบครัวใช้ “ระบบสวัสดิการ” เป็นจุดเชื่อมโยงสมาชิกครอบครัวเพื่อมาบริหารเงินสวัสดิการร่วมกัน มารับประโยชน์จากสวัสดิการของครอบครัวร่วมกัน
นับเป็นกุศโลบายเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้คงอยู่
ดังนั้น สมาชิกครอบครัวจึงต้องร่วมกันตอบคำถามที่สำคัญข้อนี้ให้ได้ก่อน
ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียของการมีระบบสวัสดิการในครอบครัว
เพื่อจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
จัดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะกับครอบครัว
สวัสดิการครอบครัวมีได้หลายรูปแบบแต่โดยทั่วไปอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ
ได้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
(1)
สวัสดิการพื้นฐาน 5 ประเภทหลัก ได้แก่
·
ค่าที่อยู่อาศัย
·
ค่ารักษาพยาบาล
·
ค่าการศึกษา
·
เงินช่วยเหลือ สำหรับผู้มีรายได้ต่ำหรือว่างงาน
·
เงินอุดหนุน เพื่อดูแลผู้สูงอายุ
เด็ก และผู้พิการ
(2) สวัสดิการเสริม เป็นสวัสดิการที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับสวัสดิการพื้นฐาน
ได้แก่
·
สาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายอื่นในบ้าน
เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ
·
ค่าเบี้ยประกันชีวิต
·
ค่าบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุ
อันเป็นผลมาจากการช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวมายาวนาน
(3) สวัสดิการอื่นๆ แล้วแต่ครอบครัวจะกำหนด
·
รถยนต์
·
ค่าใช้จ่ายเดินทางในและต่างประเทศ /
ค่ารับรอง
·
ค่างานศพ งานแต่ง งานบวช
ฝากครรภ์-ทำคลอด
·
เงินเริ่มต้นธุรกิจใหม่ /
เงินกู้จากครอบครัว ฯลฯ
ตัวอย่าง “แผนสวัสดิการครอบครัว” แบบต่างๆ
ที่มา
: Family Business Asia
จากตัวอย่างทั้ง 3 แผน จะพบว่า แผน A อาจเรียกได้ว่าเป็น Subsistent Program คือ
ให้เฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ
เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ที่ความคิดเห็นอาจจะแตกต่างกันในเรื่องสวัสดิการ แผน B เป็นแผนกลางๆ
อาจเรียกได้ว่าเป็น Customized Program มีการให้ทั้งสวัสดิการพื้นฐานและสวัสดิการอื่นๆ
ที่ครอบครัวเห็นชอบร่วมกัน ส่วน แผน C อาจเรียกได้ว่าเป็น
Comprehensive Program คือ
มีการให้สวัสดิการที่ครอบคลุมมากที่สุด เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็กที่มีเงินกองกลางพอสมควร
“ให้เท่าที่จำเป็น หรือให้อย่างครบถ้วน”
คือคำถามสำคัญก่อนที่จะเลือกว่าแผนใดเหมาะกับครอบครัวของคุณ
นอกจากนี้
สวัสดิการครอบครัวอาจไม่จำกัดอยู่เพียงแค่สวัสดิการที่เป็นตัวเงินเท่านั้น
สิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่มีคุณค่า เช่น เวลา หรือความใส่ใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า
“เงินไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันต้องการ ดิฉันมีมากพอแล้ว
แต่ขอเวลาจากลูกหลานพาไปเที่ยว พาไปไหว้พระ ดิฉันก็ดีใจแล้ว”
คุณแม่ท่านหนึ่งได้เคยกล่าวไว้ในการประชุมครอบครัว
“สามขา” ของการจัดสวัสดิการครอบครัว
หากคิดจะจัดระบบสวัสดิการขึ้นภายในครอบครัวแล้วละก็มี
3 เรื่องที่จะต้องพูดคุยไปด้วยกันเสมอ ได้แก่ (1) สิทธิประโยชน์หรือประเภทของสวัสดิการ
(2) ระเบียบการให้สวัสดิการต่างๆ และ (3) ที่มาของเงินเพื่อจัดสวัสดิการ
(1)
สิทธิประโยชน์ สมาชิกตกลงร่วมกันว่าต้องการให้มีสวัสดิการประเภทใดบ้าง
โดยเลือกชุดหรือ “แผนสวัสดิการ” ที่เหมาะสมกับครอบครัว
(2) ระเบียบการให้ ซึ่งได้แก่ เกณฑ์การได้รับสวัสดิการครอบครัว
การบังคับให้เป็นไปตามระเบียบ หรือกติกา การกำหนดผู้ดูแลเงินกองทุนสวัสดิการ ระเบียบการเบิกจ่าย
เป็นต้น ซึ่งสมาชิกครอบครัวจำเป็นต้องหารือร่วมกันโดยยึดหลัก “ไม่เลือกปฏิบัติ”
คือถ้าเข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็จะได้เหมือนกัน
(3) ที่มาของเงินเพื่อจัดสวัสดิการ คือแหล่งที่มาของเงินเพื่อมาจัดสวัสดิการอาจมาได้จากหลายแหล่ง เช่น
·
จากธุรกิจครอบครัวโดยตรง โดยถือเป็นรายจ่ายของบริษัท เช่น การใช้รถของบริษัท
ประกันชีวิตและสุขภาพในฐานะกรรมการ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทครอบครัวที่สมาชิกเป็นพนักงานอยู่
เงินกู้กรรมการ เป็นต้น
·
จากเงินปันผลที่ได้รับจากธุรกิจครอบครัว โดยอาจมีการกันเงินส่วนหนึ่งออกจากเงินปันผลของธุรกิจครอบครัว เช่น กันเงิน
10 เปอร์เซ็นต์ออกจากเงินปันผลของสมาชิกทุกคน นำมารวมกันเป็นกองกลาง
แล้วบริหารเงินก้อนนี้เพื่อสวัสดิการครอบครัว
·
จากดอกผลของเงินตั้งต้นร่วมกัน เช่น สมาชิกระดมเงินทุนจากสมาชิกทุกคนหรือทุกครอบครัวย่อยๆ นำมาบริหารให้เกิดดอกผล
แล้วจึงใช้ดอกผลนั้นสำหรับสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น
ที่มา
: Family Business Asia
ตัวอย่างการจัดสวัสดิการของครอบครัวจิราธิวัฒน์
ที่มา
: Family Business Asia ประมวลและรวบรวมจากบทสัมภาษณ์คุณปริญญ์ และ ศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์
STEP BY STEP: ขั้นตอนการจัดสวัสดิการครอบครัว
ถามสมาชิกครอบครัวก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ถ้าจะมี “สวัสดิการ” ร่วมกัน? เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการมีสวัสดิการครอบครัว แล้วจึงพิจารณา “3 ขา” ของการจัดสวัสดิการครอบครัว ได้แก่
1) สวัสดิการจะมีอะไรบ้าง? อาจกำหนดเป็น “ชุดของสวัสดิการ” เพื่อให้ครอบครัวเลือก
2) จะมีเกณฑ์การให้อย่างไร?
ใครจะเป็นคนดูแลเงินกองกลางนี้ การเบิกจ่ายเป็นอย่างไร
3) ที่มาของเงินเพื่อสวัสดิการจะมาจากไหน?
· ครอบครัวหา”ข้อตกลงร่วมกัน”
ในครอบครัวในขาทั้ง 3 ก่อนดำเนินการต่อไป
ข้อสำคัญของการบริหารจัดการเรื่องสำคัญๆ
ในครอบครัวเช่นเรื่องสวัสดิการคือต้องให้สมาชิกเห็นชอบร่วมกันก่อน ไม่เร่งร้อน มีการให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่สมาชิกครอบครัวที่ครบถ้วน
รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดคำถามหรือข้อสงสัย ก่อนจะตัดสินใจร่วมกันต่อไปซึ่งจะทำให้ระบบสวัสดิการที่สร้างขึ้นเข้มแข็ง
และสำเร็จอย่างยั่งยืน
(บทความปรับจากเนื้อหาเรื่อง Family Welfare ของ นวพล วิริยะกุลกิจ ในวารสารการเงินธนาคาร)
(บทความปรับจากเนื้อหาเรื่อง Family Welfare ของ นวพล วิริยะกุลกิจ ในวารสารการเงินธนาคาร)
No comments:
Post a Comment