Tuesday, September 5, 2017

ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานไม่ต้องการ “ธุรกิจครอบครัว”?


ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานไม่ต้องการ “ธุรกิจครอบครัว”?

กระแสการปิดตัวของธุรกิจครอบครัวในญี่ปุ่นและบทเรียนแก่ธุรกิจครอบครัวไทย


หนุ่มสาวทุกคนมีความฝันของตัวเอง และพ่อแม่ก็ควรสนับสนุนความฝันของพวกเขาไม่ว่าฝันนั้นจะเหมือนหรือต่างกับฝันของตนเอง
- Anne-Marie de Weck, Managing Partner of Lombard Odier Group[1]


          “สุขภาพของผมแย่ลงเรื่อยๆ ธุรกิจก็ไม่ค่อยดี และไม่มีลูกคนไหนของผมที่ต้องการจะสืบทอดกิจการนี้ของครอบครัว” ทากายาสุ วาตานาเบ้ ในวัย 72 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจ “ขาย” ธุรกิจผลิตช็อคสีสำหรับวาดภาพซึ่งเป็นกิจการของตระกูลที่มีอายุกว่า 80 ปีให้กับผู้ซื้อจากเกาหลีใต้ในปี 2559 ทากายาสุ วาตานาเบ้ ไม่ใช่คนเดียวที่กำลังประสบปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ”

33 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่ปิดตัวลงในญี่ปุ่นมีสาเหตุมาจาก “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ”[1] ตัวเลขดังกล่าวสูงเป็นอันดับสองรองจากสาเหตุทางด้านสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย (37 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเป็นผลสำรวจของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ที่พิมพ์เผยแพร่ในปี 2560 และสองสาเหตุที่กล่าวมาได้นำไปสู่การปิดกิจการลงอย่างสมัครใจของธุรกิจประมาณถึง 26,700 บริษัทในปีงบประมาณที่ผ่านมา (2016)[2]

            ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ผนวกกับแนวโน้มของปัญหาที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตทำให้ภาคส่วนต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ” ของธุรกิจครอบครัวมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่บริหารงานโดยครอบครัวถือเป็นลักษณะทั่วไปที่แพร่หลายของ SME ในญี่ปุ่น โดยสัดส่วนของ SME นั้นมีจำนวนสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น และมีการจ้างงานมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศ วันนี้เราจะมาสำรวจสถานการณ์ของปัญหา ค้นหาสาเหตุ รวมถึงหนทางการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวในวันที่ลูกหลาน “ไม่ต้องการ” จะสืบทอดกิจการของตระกูล

ปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว” ในปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ ‘สึนามิ’ ที่กำลังจะตามมา

            “ทุกๆ ปีนับจากนี้ไปอีก 2 ทศวรรษ ธุรกิจในญี่ปุ่นมากกว่า 40,000 บริษัทต่อปีจะประสบความยากลำบากในการหาผู้สืบทอดธุรกิจ” คุณนารูฮิโกะ ซากามากิ จากบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ได้ประมาณการเอาไว้ในรายงานเรื่องการควบรวมกิจการของธุรกิจ SME ในญี่ปุ่น ซึ่งถ้าเอามาคำนวนก็จะได้ประมาณกว่า 800,000 บริษัทที่อาจจะต้องปิดตัวลงจากเหตุผลที่ว่า “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ” ในช่วงอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถที่จะสร้างหรือหา “ทายาทธุรกิจ” มารับช่วงกิจการได้ไม่ว่า “ทายาทธุรกิจ” เหล่านั้นจะเป็นลูกหลานของครอบครัว หรือพนักงานของบริษัทที่มีศักยภาพ แต่อีกด้านก็เป็นสาเหตุที่มาจากตัวทายาทเอง เช่น ไม่มีความสนใจในธุรกิจของตระกูลจึงเลือกที่จะออกไปทำงานอื่นๆ หรือมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจครอบครัวว่าจะเติบโตหรืออยู่รอดต่อไปในอนาคตได้อย่างไร หรือทายาทบางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวทำให้ต้องย้ายที่อยู่ออกไปซึ่งเป็นอุปสรรคของการทำงานในธุรกิจครอบครัว เป็นต้น

            แรงกดดันจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นปัจจุบัน ปัญหาการขาดผู้สืบทอดธุรกิจ และสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่นิ่งๆ ซึมๆ มาเป็นทศวรรษ ได้นำไปสู่การปิดตัวของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 5.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 และนโยบาย Startups ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นราว 3.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาชดเชยกระแสการปิดตัวของธุรกิจครอบครัวที่กำลังเกิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้ปัญหาการขาดผู้สืบบทอดธุรกิจครอบครัวกำลังกัดกร่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบันและจะมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคตอย่างแน่นอน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยน่าจะเริ่มให้ความสนใจว่าจะป้องกันปัญหาการ “ขาดผู้สืบทอดธุรกิจ” อย่างไรในเมื่อประเทศไทยเราก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นานต่อจากนี้

แล้วเราในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัวจะทำอย่างไรกันดีล่ะ?

สร้าง “ทางเลือก” ที่หลากหลายให้กับทายาท

            จำไว้ว่าทางเลือกของลูกหลานต้องมีมากกว่าแค่ “จะทำ” หรือ “จะไม่ทำ” ธุรกิจครอบครัว การเพิ่มทางเลือกในการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวของลูกหลานนั้นทำได้โดยการแบ่ง “บทบาท” ของสมาชิกในธุรกิจครอบครัวออกมาให้ชัดเจน ซึ่งผมจะขอแบ่งบทบาทของสมาชิกครอบครัวออกเป็น 4 บทบาทที่พวกเขาจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งได้แก่ (1)บทบาทผู้ถือหุ้น (Shareholder)  (2) บทบาทผู้จัดการ-ผู้บริหาร (Manager) (3) บทบาทผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และ (4) บทบาทฟรีแลนซ์ (Freelancer) โดยแต่ละบทบาทจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบ และผลตอบแทนการทำงานในบทบาทนั้นๆ แตกต่างกันไปตามแต่สมาชิกครอบครัวจะตกลงกัน ดังนี้ 


4 บทบาทของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว
บทบาท
ลักษณะ
หน้าที่
ผลตอบแทน
ผู้ถือหุ้น (Shareholder)
คือสมาชิกที่ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัว โดยบางคนอาจจะมีบทบาทพิเศษเป็น ‘กรรมการบริษัท’ ซึ่งงานจะมีลักษณะเป็นการประชุมหารือเป็นครั้งๆ ไปตามที่ได้ตกลงกัน
สนับสนุนเงินทุน (Equity) ในการทำธุรกิจแก่ธุรกิจครอบครัว
เงินปันผล
‘กรรมการบริษัท’ มีหน้าที่ให้คำแนะนำ และร่วมตัดสินใจกับทีมผู้บริหาร
เบี้ยประชุม / เงินเดือน /  โบนัส / ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามแต่จะตกลงกัน
ผู้จัดการ-ผู้บริหาร (Manager)
คือสมาชิกที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจครอบครัว เช่น เป็นพนักงาน ผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น งานจะมีลักษณะ Day-to-day operation
ทำหน้าที่บริหารกิจการตามที่ได้รับมอบหมายจากบอร์ดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น
เงินเดือน / โบนัส / ค่าตอบแทนพิเศษ / ESOP / สวัสดิการพนักงาน
ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
คือสมาชิกครอบครัวที่ทำหน้าที่บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้เงินส่วนรวมของครอบครัว หรือเงินของบริษัทครอบครัวก็ได้ งานจะมีลักษณะคล้าย Startup มีอิสระในการทำงานสูง
ทำทุกอย่างเพื่อให้กิจการใหม่เติบโตและยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่เป็นภาระต่อธุรกิจแม่
เงินเดือนจากครอบครัวตามที่ตกลงกัน / ส่วนแบ่งหุ้นในธุรกิจใหม่ / ค่าตอบแทนพิเศษ ตามแต่จะตกลงกัน
ฟรีแลนซ์ (Freelancer)
คือสมาชิกครอบครัวที่ทำงานที่ใช้ทักษะเฉพาะด้าน เช่น กฎหมาย บัญชี การตลาด ครีเอทีฟ ฯลฯ งานจะมีลักษณะเหมือนเป็นฟรีแลนซ์ที่ถูกจ้างเข้ามาทำงานเป็นชิ้นๆ ไป มีอิสระในการทำงานสูง
ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นชิ้นๆ ไป
ค่าจ้างทำงานรายชิ้น / ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามแต่จะตกลงกัน
ที่มา : Family Business Asia  


            ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่าลูกหลานทุกคนจะต้องเข้ามาเป็น ‘ผู้บริหาร’ ของธุรกิจครอบครัว และก็ไม่ผิดที่หากสมาชิกบางคนในครอบครัวเลือกที่จะเป็นเพียง “ผู้ถือหุ้น” เพียงบทบาทเดียว เพราะแม้กระทั้งผู้ถือหุ้นก็ยังมีหน้าที่ๆ จะต้องทำ คำถามสำคัญก็คือถ้าลูกหลานทุกคนเลือกที่จะเป็นผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียวแล้วละก็ สมาชิกก็คงจะต้องมาคุยกันว่าแล้วใครจะเข้ามาบริหารล่ะ?

ทางออกในระยะยาวคงต้องหา ‘คนนอก’ ที่มีความสามารถที่จะบริหารธุรกิจของตระกูลได้ ซึ่งถ้ายังไม่มีก็ต้องเริ่มหากันตั้งแต่วันนี้ ผู้นำคนต่อไปอาจจะเป็นพนักงานที่มีแวว สมาชิกก็จะต้องช่วยกันปั้นให้เขาขึ้นมาให้ได้ และในช่วงที่กำลังสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมา ทายาทก็คงต้องช่วยกันบริหารไปก่อนเพื่อให้ถึงวันนั้นที่ทุกคนจะสามารถเขยิบขึ้นไปเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนลูกหลานรุ่นใหม่ที่อาจต้องการอิสระมากขึ้นในการทำงาน การเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัว (Entrepreneur) หรือการเป็นฟรีแลนซ์ในธุรกิจครอบครัว (Freelancer) ก็อาจเป็นทางเลือกที่ทายาทจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของครอบครัวได้โดยไม่ “ฝืน” จนเกินไปนัก ซึ่งครอบครัวก็ต้องมานั่งคุยกันว่าจะเดินต่อไปกันอย่างไร และทุกคนจะเข้ามาช่วยกันได้ในบทบาทใดบ้างในแต่ละช่วงเวลา


ทายาทกับบทบาทต่างๆ ในธุรกิจครอบครัว
ที่มา : Family Business Asia

“ขายธุรกิจ” อาจเป็นทางออกที่ไม่เลวร้ายนักถ้าสุดท้ายแล้วทายาทก็ยังไม่ต้องการธุรกิจครอบครัว

            ถ้าหากครอบครัวได้ทำทุกอย่างแล้ว ทายาทก็ยังไม่ต้องการจะสืบทอดธุรกิจครอบครัวอยู่ดี การขายธุรกิจครอบครัวก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลยร้ายที่สุด แม้มันจะเป็นการตัดสินใจที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของสมาชิกหลายๆ คนในครอบครัว ความผูกพันกับธุรกิจครอบครัว หน้าที่ของลูกหลานต่อมรดกทางธุรกิจที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ หน้าตาของวงศ์ตระกูลในสังคมเมื่อต้องขายธุรกิจไป และอีกมากมายที่จะวนเวียนอยู่ในหัวของสมาชิกครอบครัวเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญนี้

แต่ผมอยากจะเสนอให้เราอย่ามองว่าการขายธุรกิจครอบครัวคือจุดจบของโลก เพราะถ้ามันคือสิ่งที่ตอบโจทย์สมาชิกครอบครัวได้ มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนัก ที่สำคัญคือสมาชิกจะต้องคุยกันให้ลงตัวว่าจะขายหรือไม่ และหากจะขายจะขายอย่างไร

            แล้วเมื่อไหร่ถึงควรจะขายธุรกิจครอบครัว?

            มีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการที่ผมคิดว่าน่าจะใช้เป็นตัวชี้วัดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะขายธุรกิจครอบครัวออกไป คือ
(1)    เมื่อไม่มีใครอยากถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป – นั่นคือไม่มีสมาชิกคนใดเลยในตระกูลที่ต้องการจะถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวอีกแล้ว ทุกคนต้องการจะขายออกไป
(2) เมื่อได้ราคาขายที่ดี – นั่นคือมีผู้ที่จะซื้อกิจการ และให้ราคาที่สมาชิกครอบครัวพอใจ  
ซึ่งถ้าหาก 2 ปัจจัยนี้เกิดขึ้นพร้อมกันก็น่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่ครอบครัวจะขายธุรกิจออกไปให้กับคนที่สนใจ จากประสบการณ์เราจะพบเหตุการณ์เช่นนี้ได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก คือไม่บ่อยนักที่สมาชิก ‘ทุกคน’ จะต้องการขายธุรกิจครอบครัวออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นที่ยังขัดแย้งกันอยู่ว่าควรหรือไม่ควรขายธุรกิจครอบครัว ซึ่งถ้าครอบครัวใดยังอยู่ที่จุดนี้ก็ขอให้ใช้เวลาในการคุยกัน อย่าเร่งร้อนในเรื่องที่สำคัญนี้ และให้ใช้กระบวนการ “สานเสวนาครอบครัว” ในการตัดสินใจร่วมกันเพื่อไม่ให้ครอบครัวกันแตกหลังขาย!

แล้วถ้าจะขายๆ ธุรกิจครอบครัวให้กับใคร?

            เพื่อให้พอเห็นภาพผมจะขอแนะนำกลุ่มเป้าหมายที่ “อาจจะ” สนใจซื้อธุรกิจครอบครัวของคุณ ซึ่งจะขอแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มภายใต้ Exit Strategy ดังนี้

1)      ขายให้พนักงานหรือผู้บริหารของบริษัท – นี่เป็นกลุ่มคนที่น่าจะ “อิน” กับธุรกิจของคุณมากที่สุดเพราะทำมากับมือ อุปสรรคคือคุณอาจไม่สามารถขายธุรกิจและได้รับเงินเป็นก้อนเดียว ทางออกคือการใช้เทคนิค ESOP (Employee Share Ownership Plan) ที่จะค่อยๆ ทยอยขายหุ้นให้กับผู้บริหารของบริษัท ซึ่งเจ้าของหุ้นก็จะทยอยได้รับเงินค่าหุ้นนั้นๆ ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน
2)   ขายให้กับคู่แข่ง คู่ค้า หรือลูกค้าที่เป็น Supply Chain กัน – ผู้ซื้อกลุ่มนี้รู้จักธุรกิจครอบครัวของคุณเป็นอย่างดี พวกเขาอาจจะตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ซื้อเพื่อขยายธุรกิจ ซื้อเพราะ Synergy ที่คาดว่าจะเกิดจากการรวมกัน หรือแม้กระทั้งซื้อเพื่อขจัดคู่แข่ง!
3)      ขายให้กับนักลงทุนโดยตรง – เช่น นักลงทุนที่ซื้อกิจการ หรือกองทุนส่วนบุคคล (Private equity fund) ซึ่งแต่ละกองทุนก็จะกำหนดลักษณะธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของตัวเองอยู่ ธุรกิจครอบครัวอาจนำธุรกิจเข้าไปเสนอขายให้กับกองทุนหรือนักลงทุนเหล่านี้ได้โดยตรง หรืออาจจะทำผ่าน ‘ตัวกลาง’ ต่างๆ ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินหรือ ‘นายหน้าธุรกิจ’ (ดูในหัวข้อต่อไป) 
4)      ขายผ่านตัวกลางหรือนายหน้าธุรกิจ – มีลักษณะเหมือนเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ในกรณีนี้เป็น “นายหน้าธุรกิจ” การใช้ ‘นายหน้าธุรกิจ’ นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือพวกเขาจะช่วยขยายโอกาสในการจับคู่ Matching ธุรกิจครอบครัวกับผู้ซื้อที่ให้ราคาดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดได้ (ทั้งในและต่างประเทศ) ช่วยอำนวยความสะดวกในแง่ของกฎหมายและงานเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่บริการนี้ก็มีต้นทุนค่านายหน้าและค่าดำเนินการที่ครอบครัวจะต้องเสีย
5)      ขายในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering: IPO) – ซึ่งวิธีนี้อาจจะเหมาะกับธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถผ่านเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ และที่สำคัญมีเงินทุนพอที่จะดำเนินการตามกระบวนการ

สุดท้ายแล้ว ในอีก 50 ปีข้างหน้าก็คงมีพวกเราเหลืออยู่ไม่กี่คนที่จะเห็นว่าลูกหลานได้มีการสืบทอดธุรกิจครอบครัวกันอย่างเรียบร้อยดีหรือไม่ กิจการที่เราได้ทุ่มเทมาทั้งชีวิตได้เจริญรุ่งเรืองหรือเจริญรุ่งริ่งกันแน่ ดังนั้น การเอาใจของเราไปยึดติดในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องนัก และน่าจะทำให้เกิดทุกข์มากกว่าสุขในใจของผู้ส่งมอบธุรกิจครอบครัว สิ่งที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวทำได้ก็คือการวางรากฐานของการเป็นคนดีความรู้ดีให้กับทายาท วางระบบธุรกิจที่ดี วางกติกาในการทำงานร่วมกันของเหล่าทายาท รวมทั้งปลูกฝังความรักในกิจการและค่านิยมร่วมกันของครอบครัว ส่วนที่ว่าทายาทจะ “ต้องการ” หรือ “ไม่ต้องการ” ธุรกิจครอบครัวนั้น คงเป็นเรื่องที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจกันเอง

บทเรียนแก่ธุรกิจครอบครัวไทย

1)      ปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว” กำลังเป็นปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ประกอบไปด้วยธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจไทยน่าจะเริ่มให้ความสนใจเพื่อหาทางป้องกันแก้ไข
2)   ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้คือการ ‘ไม่ตีกรอบ’ ว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวคือจะต้องเข้ามาบริหารธุรกิจอย่างเต็มตัวเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองว่าการสืบทอดธุรกิจสามารถทำได้ในหลายๆ บทบาท เช่น การเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ให้กับครอบครัว การทำงานแบบฟรีแลนซ์ในธุรกิจครอบครัว หรือการเป็นผู้ถือหุ้นแบบ Active Shareholder ที่ไม่ใช่แค่รอรับเงินปันผลเท่านั้น เป็นต้น
3)      อย่ามองว่าการขายธุรกิจครอบครัวคือจุดจบของโลก เพราะถ้ามันคือสิ่งที่ตอบโจทย์สมาชิกครอบครัวได้ มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนัก สิ่งสำคัญก็คือสมาชิกครอบครัวจะต้องคุยกันให้ลงตัวว่าจะขายหรือไม่และจะขายอย่างไร
4)      หากครอบครัวตัดสินใจที่จะขายธุรกิจครอบครัว Exit Strategy ก็มีหลายอย่าง เช่น การขายธุรกิจให้กับผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัท การขายให้กับคู่แข่งหรือคู่ค้าทางธุรกิจ การขายตรงให้กับนักลงทุนหรือกองทุนส่วนบุคคล การขายผ่าน ‘นายหน้าธุรกิจ’ หรือการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น


**********************************************************
#familybusiness #nosuccessor #succession #successionplanning #succssionsolution


Reference
·       Succession crisis stalks Japans family business,Leo Lewis for Financial Times
·       Small firms dying out as successors hard to find,Tetsushi Kajimoto for Reuters


[1] จากจำนวนธุรกิจทั้งหมดที่ปิดตัวลงอย่างสมัครใจ (Voluntary closure)
[2] ปีงบประมาณของญี่ปุ่นที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมของทุกปี ข้อมูลจาก Tokyo Shoko Research



[1]Every young person has their own dream and their parents should support them whether their dream is the same or not,Anne-Marie de Weck, The Nation, July 13, 2015

Friday, June 30, 2017

ทำอย่างไรไม่ให้ “บ้านแตก” เพราะสื่อสารกันไม่เป็น #Conflict in Family Business

ทำอย่างไรไม่ให้ “บ้านแตก” เพราะสื่อสารกันไม่เป็น


เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาการสื่อสารในธุรกิจครอบครัวที่คุณทำได้ทันที!


ปัญหาใหญ่ของการสื่อสารก็คือเราไม่ได้ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ เราฟังเพื่อที่จะโต้ตอบ
- Stephen R. Covey -


“มากกว่าครึ่งหนึ่งของความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวมาจากปัญหาการสื่อสาร”
นี่เป็นข้อสรุปของผมจากประสบการณ์หลายปีในฐานะที่ปรึกษาให้กับธุรกิจครอบครัว วันนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงที่มาและวิธีการแก้ปัญหานี้กัน

จับ “สัญญาณ” อันตรายปัญหาการสื่อสารในธุรกิจครอบครัว

            เรามาดูกรณีสมมติของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ทำธุรกิจครอบครัวร่วมกัน
            เหตุการณ์เริ่มจากคุณลูกเพิ่งเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว เขาเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเสนอคุณพ่อให้รีบแก้ไขเสียโดยเขาจะเป็นคนทำเอง แต่เดี๋ยวก่อน! (พ่อคิด) นี่เขาทำกันมาเป็นสิบๆ ปี จนธุรกิจเจริญเติบโตถึงทุกวันนี้ก็เพราะทำแบบนี้แหละ แล้วทำไมถึงจะต้องเปลี่ยน!!? คุณพ่อไม่เห็นด้วยและด่าไป (อย่างเมตตา)...
            คุณลูกซึ่งเข้ามาพร้อมกับความตั้งใจว่าจะต้องทำธุรกิจครอบครัวให้ดียิ่งกว่าเก่าหงุดหงิดที่ถูกคุณพ่อตำหนิต่อหน้าพนักงาน ด้วยความโกรธจึงเถียงกลับไป
            ซึ่งนั่นยิ่งทำให้คุณพ่อไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงด่ากลับไปอีกที (อย่างมีอารมณ์!!) ทั้งสองฝ่ายหน้าแดงก่ำ ไม่มีคำพูดใดเล็ดลอดออกมาอีก และถือเป็นการจบบทสนทนาในวันนั้นโดยปริยาย
            ความรู้สึกที่ยังไม่ดีขึ้นของทั้งคุณพ่อและคุณลูกซึ่งยังอยากจะให้อีกฝ่าย “ฟัง” ความคิดของตัวเองบ้างยังคงอยู่ แต่จะมีใครบ้างล่ะที่จะเป็นคนกลางได้ดีไปกว่า “แม่” คนที่เมื่อพูดแล้วทุกคนก็จะฟัง ทั้งคุณลูกและคุณพ่อจึงหาโอกาสบ่นๆๆ ให้คุณแม่ได้ฟัง เผื่อว่าคุณแม่จะมีโอกาสเป็นสื่อกลางนำสารดังกล่าวไปส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ ได้เข้าใจ ด้วยความเป็นห่วงและความรัก คุณแม่จึงทำหน้าที่ “ตัวกลาง” อย่างตั้งใจโดยหารู้ไม่ว่าเธอกำลังจะทำให้ทั้งพ่อและลูก “เคยชิน” กับการสื่อสารผ่านตัวกลาง และไม่คิดจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง
            ความอึดอัดใจยังคงอยู่ในตัวลูกแม้จะได้ระบายให้คุณแม่ฟังแล้ว แต่เมื่อกลับบ้านก็อดไม่ได้ที่จะเล่าความอัดอั้นตันใจให้กับภรรยาฟัง หรือถ้าลูกยังไม่แต่งงานก็อาจจะระบายให้กับพี่น้องเมื่อเจอหน้ากัน ทำให้บัดนี้ ความขัดแย้งของพ่อลูกสองคนได้ทำให้เกิดความอึดอัดลำบากใจแก่คุณแม่ ภรรยา และพี่น้อง ด้วยแล้ว
            และเมื่อคุยกันโดยตรงแล้วจะทะเลาะกันตลอด คุณพ่อคุณลูกคู่นี้จึงเลือกที่จะไม่คุยกัน แล้วใช้วิธี “เดา” ความคิดของแต่ละฝ่ายแทน ก็ถ้าคุยกันทุกทีก็ทะเลาะกันทุกที จะไปคุย (ให้เมื่อย) ทำไมล่ะ?

              

ภาพจำลอง เหตุการณ์ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาการสื่อสารระหว่างพ่อกับลูก (จุดที่ 1)
           
จากสถานการณ์จำลองดังกล่าว เราสามารถสรุป “สัญญาณ” ของปัญหาการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้เป็น 3 ประการ ดังนี้ (ดูภาพข้างบนประกอบ)
      A.      เริ่มคุยผ่านตัวกลาง – ในกรณีนี้ก็คือการที่ทั้งพ่อและลูกเลือกที่จะคุยผ่าน “แม่” ซึ่งเป็นเหมือนตัวกลางของพ่อและลูก
      B.      ระบายกับคนอื่น – เมื่อมีความอึดอัดจากปัญหาระหว่างกัน ลูกก็เลือกที่จะระบายกับคนใกล้ชิด ได้แก่ พี่น้อง ภรรยา หรือเพื่อนสนิท เป็นต้น ส่วนคุณพ่อก็อาจจะระบายกับคุณแม่ ญาติๆ หรือเพื่อนสนิทเช่นกัน ความขัดแย้งจึงเป็นเหมือนโรคที่จะแพร่กระจายไปเรื่อยๆ
      C.     เลิกคุยกันหรือคุยเท่าที่จำเป็น ที่เหลือใช้ “เดาใจ” – เมื่อมันมีปัญหามากนักเวลาคุยกัน ทั้งสองฝ่ายก็เลือกที่จะไม่คุย หรือคุยให้น้อยที่สุดเพื่อลดความขัดแย้งลง ดังนั้น การ “เดาใจ” หรือ “มโน” จึงเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานร่วมกัน (ซึ่งมันไม่ควรจะเป็น!!) ซึ่งการไม่คุยกันก็จะยิ่งทำให้ไม่เข้าใจกันต่อไปอีก

5 สาเหตุสร้างปัญหาการสื่อสารในธุรกิจครอบครัว

            จากกรณีสมมติดังกล่าวหากเราลองเอามาวิเคราะห์ดูจะพบว่า ต้นเหตุสำคัญของปัญหาการสื่อสารดังกล่าวก็คือ “การใช้คำพูดที่ทำร้ายใจกัน” หรือไม่ให้เกียรติกัน เช่น ลูกติติงธุรกิจที่พ่อทำมาหลายสิบปีทั้งๆ ที่ตัวเองเพิ่งเข้ามาทำได้ไม่นาน หรือการที่พ่อด่าลูกต่อหน้าธารกำนัล เป็นต้น
อีกหนึ่งสาเหตุที่เห็นได้จากกรณีนี้ก็คือ “การฟังกันไม่เป็น” ซึ่งชัดเจนในกรณีนี้ว่าไม่มีใครฟังใครตั้งแต่ต้น และบวกเข้ากับ “การใช้อารมณ์” ในการคุยกันซึ่งยิ่งทำให้ใช้คำพูดที่ทำร้ายใจกันหนักขึ้นไปอีก และก็ยิ่งไม่มีใครฟังใครอีกต่อไป
            นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุอื่นๆ ของปัญหาการสื่อสาร เช่น “ปัญหาการใช้เครื่องมือสื่อสาร” ยกตัวอย่าง เช่น การสื่อสารผ่านโซเชียวมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค หรือไลน์ ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ที่อาจตีความออกไปได้หลายทาง หรือการอ่านแล้วแต่ไม่ตอบก็ทำให้เกิดการตีความไปได้อีกมากมาย เป็นต้น และที่แย่ไม่แพ้ข้ออื่นๆ ก็คือ “การไม่ได้คุยกัน” นั่นเอง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะต่างคนต่างยุ่ง ไม่มีเวลาได้เจอกัน หรืออาจจะทำงานกันคนละที่ บ้านไกลกัน หรือบางคนก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นว่าทำไมจะต้องมาเจอกัน! ดังนั้น เราจึงสรุปสาเหตุสำคัญของปัญหาการสื่อสารได้ 5 ประการ ดังต่อไปนี้
(1)    พูดทำร้ายใจกัน
(2)    ฟังกันไม่เป็น
(3)    ใช้อารมณ์ในการสื่อสาร
(4)    ปัญหาการใช้เครื่องมือสื่อสาร
(5)    ไม่ได้คุยกัน

5 สาเหตุสร้างปัญหาการสื่อสารในธุรกิจครอบครัว

           
จากกรณีสมมติจะเห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความตั้งใจดีของคนทั้งสองฝ่าย คือ ลูกที่อยากจะเห็นธุรกิจครอบครัวดีขึ้น และพ่อที่ก็อยากให้ธุรกิจครอบครัวดีต่อไปเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การมองต่างมุมของพ่อและลูกเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพียงแต่ในหลายๆ ครั้งแทนที่เราจะใช้การสื่อสารพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน เชื่อมความเห็นที่ยังต่างเข้าหากัน เรากลับใช้การสื่อสารเพื่อเอาชนะกัน เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าเราถูก เขาผิด โดยขาดการสื่อสารในเรื่องของ “ความรู้สึก” ที่เป็นห่วงกัน รักกัน หรือมีเป้าหมายการทำธุรกิจครอบครัวที่ไม่ต่างกัน แม้อาจจะมีวิธีเดินทางไปถึงเป้าหมายแตกต่างกันออกไป            
            ดังนั้น ครอบครัวจึงต้องระวังไม่ให้ “ปัญหางาน” กลายเป็น “ปัญหาคน” เพราะตกหลุมพลางการสื่อสารทั้ง 5 ข้อข้างต้น ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถทำให้ธุรกิจครอบครัวดีขึ้นได้แล้ว ยังจะเสียความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ในครอบครัวซึ่งจะสลายหายไปเมื่อเราไม่สามารถคุยกันได้เหมือนอย่างที่เคยเป็น

ก้าวพ้นปัญหาการสื่อสารด้วยทักษะ “ฟังอย่างตั้งใจ”

            “หากบางครั้งเมื่อต้องคุยกับคนที่ไม่อยากคุยด้วย หรือยากเหลือเกินที่จะคุยด้วย ...เราก็เปลี่ยนไปคุยกับเมล็ดพันธุ์แห่งความดีของคนนั้นก็ได้ คนทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ย่อมมีสิ่งที่ดีที่น่ายกย่องชื่นชมอย่างแน่นอน ถ้าเรารับฟังเขาได้ เราจะเข้าใจเขาได้มากขึ้น กระแสความขัดแย้งในใจก็จะเริ่มลดน้อยลง สิ่งที่น่าแปลกก็คือเขาก็จะเปิดใจมากขึ้นและพร้อมรับฟังเราในที่สุด” คุณเรือรบได้เคยแชร์ข้อความนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง “สุนทรียสนทนาฉบับครอบครัว” ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และคิดว่านี่อาจจะเป็นวิธีในการนำพาให้เราหลุดออกจากหลุมพลางของการสื่อสาร นั่นก็คือพวกเราจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาการสื่อสารด้วยการฟังนั่นเอง! ซึ่งการฟังที่เรากำลังจะพูดถึงนั้นถูกเรียกว่า “การฟังอย่างตั้งใจ” หรือ Active Listening ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ[1] ดังนี้

การฟังอย่างตั้งใจ
1)      มองตาผู้พูด มองตรงๆ
2)      แสดงว่าฟังอยู่ เช่น พยักหน้า หรือส่งเสียง อือหือๆ เป็นต้น
3)      ไม่ขัดจังหวะ หรือพูดแทรก
4)      ไม่ตัดสินความคิดของผู้พูดว่าถูกหรือผิด ณ ตอนนั้น
5)      ไม่ต้องให้คำแนะนำผู้พูด หรือหาคำตอบทันที ณ ตอนนั้น

ถ้าคุณทำตามได้ทั้ง 5 ข้อ คุณจะกลายเป็นคนที่ทุกๆ คนอยากจะคุยด้วย คุณจะกลายเป็นนักฟังที่ดี และที่สำคัญมันคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขทุกๆ อย่างที่คุณได้เคยทำผิดไว้กับคนที่คุณรักไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ลูกๆ ของคุณ พี่น้องของคุณ หรือใครก็ตามที่มีความสำคัญต่อชีวิตของคุณ!

กำหนดกติกาในการคุยกันเพื่อสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการแสดงความคิดเห็น

            เมื่อคุณเปลี่ยนตัวคุณเองแล้วด้วยการเป็น “นักฟังที่ดี” ก็ถึงเวลาที่เราจะชวนสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ มากำหนดกติกาในการพูดคุยกันเพื่อสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในครอบครัว กติกาที่กำหนดขึ้นก็ด้วยความตั้งใจที่จะขจัดความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นต่อคนอื่นๆ ในครอบครัว ตัวอย่างกติกาในการพูดคุยกัน เช่น
          
             ตัวอย่างกติกาในการคุยกัน
1)      พูดทีละคน
2)      รอให้คนพูดๆ จบก่อน จึงยกมือและพูดได้
3)      พูดกับทุกคนในที่ประชุม
4)      เว้นจังหวะพูด เพื่อรับฟังคนอื่นบ้าง
5)      เห็นต่างให้จดไว้ (ไม่โต้แย้งโดยทันที)
6)      ใช้คำพูดถนอมใจกัน
7)      ไม่เอาอดีตมาชี้หน้าด่ากัน
8)      มองไปในอนาคตร่วมกัน
9)      ไม่ต้องกลัวจะลืมว่าจะพูดอะไร เพราะเราขอให้คุณจดมันไว้ก่อน
10)  ถ้ามีอารมณ์ให้หยุดพูด
11)  กำหนดระยะเวลาที่จะพูดคุยกันให้ชัดเจนว่าเรามีเวลามากแค่ไหนในการคุยกัน ฯลฯ

เริ่มด้วย “กอดกัน” ก่อนจะคุยกัน

            คุณอาจจะยังงงๆ กับสิ่งที่ผมแนะนำ แต่ลองทำดูซิ แล้วคุณจะรู้ว่าการกอดกับสมาชิกคนอื่นๆ ก่อนที่จะเริ่มประชุมกันจะทำให้พูดคุยกันง่ายขึ้น และสร้างบรรยากาศที่ดีในการประชุม
            จริงๆ แล้วยังมีกุศโลบายอื่นๆ อีกนอกเหนือจากการกอดกัน เช่น การฝึกหายใจช้าๆ ก่อนจะพูดคุยกัน หรือการคุยกันในเรื่องอื่นๆ ที่ใช้สมองซีกขวา (ความรู้สึก) เช่น ความประทับใจในวัยเด็กที่ได้ไปเที่ยวร่วมกัน หรือคุยถึงสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของครอบครัว ก่อนที่เราจะใช้สมองซีกซ้าย (เหตุผล) คุยกันในเรื่องหนักๆ ประมาณว่าเป็นการปรับสมดุลของภาวะอารมณ์ของร่างกายให้เหมาะสม ลดความเครียด และเป็นการเครียร์ใจของสมาชิกก่อนจะมาพูดคุยกัน
            ลองดูนะครับ ลองฝึก “ฟังอย่างตั้งใจ” ลองกำหนด “กติกาในการประชุมครอบครัว” และลองที่จะ “กอด” คนที่คุณรักในเวลาที่คุณยังมีพวกเขาอยู่ ทำวันนี้เลยครับ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าอะไรจะมาถึงก่อนกัน



[1] การฟังอย่างตั้งใจ โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์


สรุปแนวคิดสื่อสารกันให้เป็น
1.      จับ “สัญญาณ” ของการสื่อสารที่มีปัญหาระหว่างสมาชิก เช่น การคุยผ่านตัวกลาง การระบายความคับข้องใจกับคนใกล้ชิด และการเน้น “เดาใจกัน” มากกว่าจะ “คุยกัน” ตรงๆ
2.      สาเหตุที่สร้างปัญหาในการสื่อสารของธุรกิจครอบครัวมี 5 ประการ ได้แก่ (1) การพูดทำร้ายใจกัน (2) การฟังกันไม่เป็น (3) การใช้อารมณ์ในการสื่อสาร (4) ปัญหาการใช้เครื่องมือสื่อสาร และ (5) การไม่ได้คุยกัน
3.      ก้าวพ้นปัญหาการสื่อสารด้วยทักษะ “ฟังอย่างตั้งใจ” เพราะเป็นสิ่งที่คุณทำได้เลยโดยไม่ต้องรอใคร และเมื่อคุณฟังเขา โอกาสที่เขาจะฟังคุณบ้างก็จะสูงขึ้น
4.      กำหนดกติกาในการคุยกันในครอบครัว เพื่อสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีใครต้องถูกด่า!
5.      เริ่มต้นด้วยการ “กอดกัน” ก่อนจะพูดคุยกัน เพราะการกอดเป็นการสื่อสารในสิ่งที่คำพูดสื่อออกมาไม่ได้!

References
·       - The Communication Problem Solver: Simple Tools and Techniques for Busy Managers, Nannette Rundle Carroll (AMACOM Div American Mgmt Assn, 2009)
·       - 7 Hidden Reasons Employees Leave, Leigh Branham (AMACOM 2005)
·       -  สิบวันเปลี่ยนชีวิต 2: สุนทรียสนทนาฉบับครอบครัว, เรือรบ