Tuesday, September 5, 2017

ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานไม่ต้องการ “ธุรกิจครอบครัว”?


ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานไม่ต้องการ “ธุรกิจครอบครัว”?

กระแสการปิดตัวของธุรกิจครอบครัวในญี่ปุ่นและบทเรียนแก่ธุรกิจครอบครัวไทย


หนุ่มสาวทุกคนมีความฝันของตัวเอง และพ่อแม่ก็ควรสนับสนุนความฝันของพวกเขาไม่ว่าฝันนั้นจะเหมือนหรือต่างกับฝันของตนเอง
- Anne-Marie de Weck, Managing Partner of Lombard Odier Group[1]


          “สุขภาพของผมแย่ลงเรื่อยๆ ธุรกิจก็ไม่ค่อยดี และไม่มีลูกคนไหนของผมที่ต้องการจะสืบทอดกิจการนี้ของครอบครัว” ทากายาสุ วาตานาเบ้ ในวัย 72 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจ “ขาย” ธุรกิจผลิตช็อคสีสำหรับวาดภาพซึ่งเป็นกิจการของตระกูลที่มีอายุกว่า 80 ปีให้กับผู้ซื้อจากเกาหลีใต้ในปี 2559 ทากายาสุ วาตานาเบ้ ไม่ใช่คนเดียวที่กำลังประสบปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ”

33 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่ปิดตัวลงในญี่ปุ่นมีสาเหตุมาจาก “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ”[1] ตัวเลขดังกล่าวสูงเป็นอันดับสองรองจากสาเหตุทางด้านสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย (37 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเป็นผลสำรวจของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ที่พิมพ์เผยแพร่ในปี 2560 และสองสาเหตุที่กล่าวมาได้นำไปสู่การปิดกิจการลงอย่างสมัครใจของธุรกิจประมาณถึง 26,700 บริษัทในปีงบประมาณที่ผ่านมา (2016)[2]

            ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ผนวกกับแนวโน้มของปัญหาที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตทำให้ภาคส่วนต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ” ของธุรกิจครอบครัวมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่บริหารงานโดยครอบครัวถือเป็นลักษณะทั่วไปที่แพร่หลายของ SME ในญี่ปุ่น โดยสัดส่วนของ SME นั้นมีจำนวนสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น และมีการจ้างงานมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศ วันนี้เราจะมาสำรวจสถานการณ์ของปัญหา ค้นหาสาเหตุ รวมถึงหนทางการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวในวันที่ลูกหลาน “ไม่ต้องการ” จะสืบทอดกิจการของตระกูล

ปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว” ในปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ ‘สึนามิ’ ที่กำลังจะตามมา

            “ทุกๆ ปีนับจากนี้ไปอีก 2 ทศวรรษ ธุรกิจในญี่ปุ่นมากกว่า 40,000 บริษัทต่อปีจะประสบความยากลำบากในการหาผู้สืบทอดธุรกิจ” คุณนารูฮิโกะ ซากามากิ จากบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ได้ประมาณการเอาไว้ในรายงานเรื่องการควบรวมกิจการของธุรกิจ SME ในญี่ปุ่น ซึ่งถ้าเอามาคำนวนก็จะได้ประมาณกว่า 800,000 บริษัทที่อาจจะต้องปิดตัวลงจากเหตุผลที่ว่า “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ” ในช่วงอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถที่จะสร้างหรือหา “ทายาทธุรกิจ” มารับช่วงกิจการได้ไม่ว่า “ทายาทธุรกิจ” เหล่านั้นจะเป็นลูกหลานของครอบครัว หรือพนักงานของบริษัทที่มีศักยภาพ แต่อีกด้านก็เป็นสาเหตุที่มาจากตัวทายาทเอง เช่น ไม่มีความสนใจในธุรกิจของตระกูลจึงเลือกที่จะออกไปทำงานอื่นๆ หรือมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจครอบครัวว่าจะเติบโตหรืออยู่รอดต่อไปในอนาคตได้อย่างไร หรือทายาทบางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวทำให้ต้องย้ายที่อยู่ออกไปซึ่งเป็นอุปสรรคของการทำงานในธุรกิจครอบครัว เป็นต้น

            แรงกดดันจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นปัจจุบัน ปัญหาการขาดผู้สืบทอดธุรกิจ และสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่นิ่งๆ ซึมๆ มาเป็นทศวรรษ ได้นำไปสู่การปิดตัวของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 5.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 และนโยบาย Startups ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นราว 3.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาชดเชยกระแสการปิดตัวของธุรกิจครอบครัวที่กำลังเกิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้ปัญหาการขาดผู้สืบบทอดธุรกิจครอบครัวกำลังกัดกร่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบันและจะมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคตอย่างแน่นอน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยน่าจะเริ่มให้ความสนใจว่าจะป้องกันปัญหาการ “ขาดผู้สืบทอดธุรกิจ” อย่างไรในเมื่อประเทศไทยเราก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นานต่อจากนี้

แล้วเราในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัวจะทำอย่างไรกันดีล่ะ?

สร้าง “ทางเลือก” ที่หลากหลายให้กับทายาท

            จำไว้ว่าทางเลือกของลูกหลานต้องมีมากกว่าแค่ “จะทำ” หรือ “จะไม่ทำ” ธุรกิจครอบครัว การเพิ่มทางเลือกในการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวของลูกหลานนั้นทำได้โดยการแบ่ง “บทบาท” ของสมาชิกในธุรกิจครอบครัวออกมาให้ชัดเจน ซึ่งผมจะขอแบ่งบทบาทของสมาชิกครอบครัวออกเป็น 4 บทบาทที่พวกเขาจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งได้แก่ (1)บทบาทผู้ถือหุ้น (Shareholder)  (2) บทบาทผู้จัดการ-ผู้บริหาร (Manager) (3) บทบาทผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และ (4) บทบาทฟรีแลนซ์ (Freelancer) โดยแต่ละบทบาทจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบ และผลตอบแทนการทำงานในบทบาทนั้นๆ แตกต่างกันไปตามแต่สมาชิกครอบครัวจะตกลงกัน ดังนี้ 


4 บทบาทของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว
บทบาท
ลักษณะ
หน้าที่
ผลตอบแทน
ผู้ถือหุ้น (Shareholder)
คือสมาชิกที่ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัว โดยบางคนอาจจะมีบทบาทพิเศษเป็น ‘กรรมการบริษัท’ ซึ่งงานจะมีลักษณะเป็นการประชุมหารือเป็นครั้งๆ ไปตามที่ได้ตกลงกัน
สนับสนุนเงินทุน (Equity) ในการทำธุรกิจแก่ธุรกิจครอบครัว
เงินปันผล
‘กรรมการบริษัท’ มีหน้าที่ให้คำแนะนำ และร่วมตัดสินใจกับทีมผู้บริหาร
เบี้ยประชุม / เงินเดือน /  โบนัส / ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามแต่จะตกลงกัน
ผู้จัดการ-ผู้บริหาร (Manager)
คือสมาชิกที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจครอบครัว เช่น เป็นพนักงาน ผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น งานจะมีลักษณะ Day-to-day operation
ทำหน้าที่บริหารกิจการตามที่ได้รับมอบหมายจากบอร์ดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น
เงินเดือน / โบนัส / ค่าตอบแทนพิเศษ / ESOP / สวัสดิการพนักงาน
ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
คือสมาชิกครอบครัวที่ทำหน้าที่บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้เงินส่วนรวมของครอบครัว หรือเงินของบริษัทครอบครัวก็ได้ งานจะมีลักษณะคล้าย Startup มีอิสระในการทำงานสูง
ทำทุกอย่างเพื่อให้กิจการใหม่เติบโตและยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่เป็นภาระต่อธุรกิจแม่
เงินเดือนจากครอบครัวตามที่ตกลงกัน / ส่วนแบ่งหุ้นในธุรกิจใหม่ / ค่าตอบแทนพิเศษ ตามแต่จะตกลงกัน
ฟรีแลนซ์ (Freelancer)
คือสมาชิกครอบครัวที่ทำงานที่ใช้ทักษะเฉพาะด้าน เช่น กฎหมาย บัญชี การตลาด ครีเอทีฟ ฯลฯ งานจะมีลักษณะเหมือนเป็นฟรีแลนซ์ที่ถูกจ้างเข้ามาทำงานเป็นชิ้นๆ ไป มีอิสระในการทำงานสูง
ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นชิ้นๆ ไป
ค่าจ้างทำงานรายชิ้น / ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามแต่จะตกลงกัน
ที่มา : Family Business Asia  


            ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่าลูกหลานทุกคนจะต้องเข้ามาเป็น ‘ผู้บริหาร’ ของธุรกิจครอบครัว และก็ไม่ผิดที่หากสมาชิกบางคนในครอบครัวเลือกที่จะเป็นเพียง “ผู้ถือหุ้น” เพียงบทบาทเดียว เพราะแม้กระทั้งผู้ถือหุ้นก็ยังมีหน้าที่ๆ จะต้องทำ คำถามสำคัญก็คือถ้าลูกหลานทุกคนเลือกที่จะเป็นผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียวแล้วละก็ สมาชิกก็คงจะต้องมาคุยกันว่าแล้วใครจะเข้ามาบริหารล่ะ?

ทางออกในระยะยาวคงต้องหา ‘คนนอก’ ที่มีความสามารถที่จะบริหารธุรกิจของตระกูลได้ ซึ่งถ้ายังไม่มีก็ต้องเริ่มหากันตั้งแต่วันนี้ ผู้นำคนต่อไปอาจจะเป็นพนักงานที่มีแวว สมาชิกก็จะต้องช่วยกันปั้นให้เขาขึ้นมาให้ได้ และในช่วงที่กำลังสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมา ทายาทก็คงต้องช่วยกันบริหารไปก่อนเพื่อให้ถึงวันนั้นที่ทุกคนจะสามารถเขยิบขึ้นไปเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนลูกหลานรุ่นใหม่ที่อาจต้องการอิสระมากขึ้นในการทำงาน การเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัว (Entrepreneur) หรือการเป็นฟรีแลนซ์ในธุรกิจครอบครัว (Freelancer) ก็อาจเป็นทางเลือกที่ทายาทจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของครอบครัวได้โดยไม่ “ฝืน” จนเกินไปนัก ซึ่งครอบครัวก็ต้องมานั่งคุยกันว่าจะเดินต่อไปกันอย่างไร และทุกคนจะเข้ามาช่วยกันได้ในบทบาทใดบ้างในแต่ละช่วงเวลา


ทายาทกับบทบาทต่างๆ ในธุรกิจครอบครัว
ที่มา : Family Business Asia

“ขายธุรกิจ” อาจเป็นทางออกที่ไม่เลวร้ายนักถ้าสุดท้ายแล้วทายาทก็ยังไม่ต้องการธุรกิจครอบครัว

            ถ้าหากครอบครัวได้ทำทุกอย่างแล้ว ทายาทก็ยังไม่ต้องการจะสืบทอดธุรกิจครอบครัวอยู่ดี การขายธุรกิจครอบครัวก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลยร้ายที่สุด แม้มันจะเป็นการตัดสินใจที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของสมาชิกหลายๆ คนในครอบครัว ความผูกพันกับธุรกิจครอบครัว หน้าที่ของลูกหลานต่อมรดกทางธุรกิจที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ หน้าตาของวงศ์ตระกูลในสังคมเมื่อต้องขายธุรกิจไป และอีกมากมายที่จะวนเวียนอยู่ในหัวของสมาชิกครอบครัวเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญนี้

แต่ผมอยากจะเสนอให้เราอย่ามองว่าการขายธุรกิจครอบครัวคือจุดจบของโลก เพราะถ้ามันคือสิ่งที่ตอบโจทย์สมาชิกครอบครัวได้ มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนัก ที่สำคัญคือสมาชิกจะต้องคุยกันให้ลงตัวว่าจะขายหรือไม่ และหากจะขายจะขายอย่างไร

            แล้วเมื่อไหร่ถึงควรจะขายธุรกิจครอบครัว?

            มีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการที่ผมคิดว่าน่าจะใช้เป็นตัวชี้วัดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะขายธุรกิจครอบครัวออกไป คือ
(1)    เมื่อไม่มีใครอยากถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป – นั่นคือไม่มีสมาชิกคนใดเลยในตระกูลที่ต้องการจะถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวอีกแล้ว ทุกคนต้องการจะขายออกไป
(2) เมื่อได้ราคาขายที่ดี – นั่นคือมีผู้ที่จะซื้อกิจการ และให้ราคาที่สมาชิกครอบครัวพอใจ  
ซึ่งถ้าหาก 2 ปัจจัยนี้เกิดขึ้นพร้อมกันก็น่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่ครอบครัวจะขายธุรกิจออกไปให้กับคนที่สนใจ จากประสบการณ์เราจะพบเหตุการณ์เช่นนี้ได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก คือไม่บ่อยนักที่สมาชิก ‘ทุกคน’ จะต้องการขายธุรกิจครอบครัวออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นที่ยังขัดแย้งกันอยู่ว่าควรหรือไม่ควรขายธุรกิจครอบครัว ซึ่งถ้าครอบครัวใดยังอยู่ที่จุดนี้ก็ขอให้ใช้เวลาในการคุยกัน อย่าเร่งร้อนในเรื่องที่สำคัญนี้ และให้ใช้กระบวนการ “สานเสวนาครอบครัว” ในการตัดสินใจร่วมกันเพื่อไม่ให้ครอบครัวกันแตกหลังขาย!

แล้วถ้าจะขายๆ ธุรกิจครอบครัวให้กับใคร?

            เพื่อให้พอเห็นภาพผมจะขอแนะนำกลุ่มเป้าหมายที่ “อาจจะ” สนใจซื้อธุรกิจครอบครัวของคุณ ซึ่งจะขอแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มภายใต้ Exit Strategy ดังนี้

1)      ขายให้พนักงานหรือผู้บริหารของบริษัท – นี่เป็นกลุ่มคนที่น่าจะ “อิน” กับธุรกิจของคุณมากที่สุดเพราะทำมากับมือ อุปสรรคคือคุณอาจไม่สามารถขายธุรกิจและได้รับเงินเป็นก้อนเดียว ทางออกคือการใช้เทคนิค ESOP (Employee Share Ownership Plan) ที่จะค่อยๆ ทยอยขายหุ้นให้กับผู้บริหารของบริษัท ซึ่งเจ้าของหุ้นก็จะทยอยได้รับเงินค่าหุ้นนั้นๆ ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน
2)   ขายให้กับคู่แข่ง คู่ค้า หรือลูกค้าที่เป็น Supply Chain กัน – ผู้ซื้อกลุ่มนี้รู้จักธุรกิจครอบครัวของคุณเป็นอย่างดี พวกเขาอาจจะตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ซื้อเพื่อขยายธุรกิจ ซื้อเพราะ Synergy ที่คาดว่าจะเกิดจากการรวมกัน หรือแม้กระทั้งซื้อเพื่อขจัดคู่แข่ง!
3)      ขายให้กับนักลงทุนโดยตรง – เช่น นักลงทุนที่ซื้อกิจการ หรือกองทุนส่วนบุคคล (Private equity fund) ซึ่งแต่ละกองทุนก็จะกำหนดลักษณะธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของตัวเองอยู่ ธุรกิจครอบครัวอาจนำธุรกิจเข้าไปเสนอขายให้กับกองทุนหรือนักลงทุนเหล่านี้ได้โดยตรง หรืออาจจะทำผ่าน ‘ตัวกลาง’ ต่างๆ ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินหรือ ‘นายหน้าธุรกิจ’ (ดูในหัวข้อต่อไป) 
4)      ขายผ่านตัวกลางหรือนายหน้าธุรกิจ – มีลักษณะเหมือนเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ในกรณีนี้เป็น “นายหน้าธุรกิจ” การใช้ ‘นายหน้าธุรกิจ’ นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือพวกเขาจะช่วยขยายโอกาสในการจับคู่ Matching ธุรกิจครอบครัวกับผู้ซื้อที่ให้ราคาดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดได้ (ทั้งในและต่างประเทศ) ช่วยอำนวยความสะดวกในแง่ของกฎหมายและงานเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่บริการนี้ก็มีต้นทุนค่านายหน้าและค่าดำเนินการที่ครอบครัวจะต้องเสีย
5)      ขายในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering: IPO) – ซึ่งวิธีนี้อาจจะเหมาะกับธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถผ่านเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ และที่สำคัญมีเงินทุนพอที่จะดำเนินการตามกระบวนการ

สุดท้ายแล้ว ในอีก 50 ปีข้างหน้าก็คงมีพวกเราเหลืออยู่ไม่กี่คนที่จะเห็นว่าลูกหลานได้มีการสืบทอดธุรกิจครอบครัวกันอย่างเรียบร้อยดีหรือไม่ กิจการที่เราได้ทุ่มเทมาทั้งชีวิตได้เจริญรุ่งเรืองหรือเจริญรุ่งริ่งกันแน่ ดังนั้น การเอาใจของเราไปยึดติดในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องนัก และน่าจะทำให้เกิดทุกข์มากกว่าสุขในใจของผู้ส่งมอบธุรกิจครอบครัว สิ่งที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวทำได้ก็คือการวางรากฐานของการเป็นคนดีความรู้ดีให้กับทายาท วางระบบธุรกิจที่ดี วางกติกาในการทำงานร่วมกันของเหล่าทายาท รวมทั้งปลูกฝังความรักในกิจการและค่านิยมร่วมกันของครอบครัว ส่วนที่ว่าทายาทจะ “ต้องการ” หรือ “ไม่ต้องการ” ธุรกิจครอบครัวนั้น คงเป็นเรื่องที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจกันเอง

บทเรียนแก่ธุรกิจครอบครัวไทย

1)      ปัญหา “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว” กำลังเป็นปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ประกอบไปด้วยธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจไทยน่าจะเริ่มให้ความสนใจเพื่อหาทางป้องกันแก้ไข
2)   ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้คือการ ‘ไม่ตีกรอบ’ ว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวคือจะต้องเข้ามาบริหารธุรกิจอย่างเต็มตัวเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองว่าการสืบทอดธุรกิจสามารถทำได้ในหลายๆ บทบาท เช่น การเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ให้กับครอบครัว การทำงานแบบฟรีแลนซ์ในธุรกิจครอบครัว หรือการเป็นผู้ถือหุ้นแบบ Active Shareholder ที่ไม่ใช่แค่รอรับเงินปันผลเท่านั้น เป็นต้น
3)      อย่ามองว่าการขายธุรกิจครอบครัวคือจุดจบของโลก เพราะถ้ามันคือสิ่งที่ตอบโจทย์สมาชิกครอบครัวได้ มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนัก สิ่งสำคัญก็คือสมาชิกครอบครัวจะต้องคุยกันให้ลงตัวว่าจะขายหรือไม่และจะขายอย่างไร
4)      หากครอบครัวตัดสินใจที่จะขายธุรกิจครอบครัว Exit Strategy ก็มีหลายอย่าง เช่น การขายธุรกิจให้กับผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัท การขายให้กับคู่แข่งหรือคู่ค้าทางธุรกิจ การขายตรงให้กับนักลงทุนหรือกองทุนส่วนบุคคล การขายผ่าน ‘นายหน้าธุรกิจ’ หรือการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น


**********************************************************
#familybusiness #nosuccessor #succession #successionplanning #succssionsolution


Reference
·       Succession crisis stalks Japans family business,Leo Lewis for Financial Times
·       Small firms dying out as successors hard to find,Tetsushi Kajimoto for Reuters


[1] จากจำนวนธุรกิจทั้งหมดที่ปิดตัวลงอย่างสมัครใจ (Voluntary closure)
[2] ปีงบประมาณของญี่ปุ่นที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมของทุกปี ข้อมูลจาก Tokyo Shoko Research



[1]Every young person has their own dream and their parents should support them whether their dream is the same or not,Anne-Marie de Weck, The Nation, July 13, 2015