Tuesday, April 3, 2018

7 ข้อก่อนจะเขียนธรรมนูญครอบครัว




จะเริ่มเขียนธรรมนูญครอบครัวยังไงดี?”

ก่อนจะเริ่มเขียนธรรมนูญครอบครัวร่วมกับสมาชิกนั้น มีเรื่องสำคัญบางเรื่องที่ครอบครัวควรจะต้องแน่ใจเสียก่อน ผมจึงอยากฝากข้อคิดบางประการสำหรับครอบครัวที่คิดจะเขียนธรรมนูญกันครับ

1.ดับไฟที่กำลังลุกก่อน

            การเริ่มเขียนธรรมนุญครอบครัวในขณะที่กำลังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก โอกาสที่ประเด็นขัดแย้งจะถูกนำมาเป็นหัวข้อในการสร้างธรรมนูญครอบครัว และทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ ครอบครัวควรตรวจเช็คความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างกันและความตั้งใจที่จะหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หากพบปัญหาคั่งค้างหรือความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่น ควรพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นก่อนเพื่อไม่ให้การเขียนธรรมนูญครอบครัวกลายเป็นปมขัดแย้งใหม่ของครอบครัว
            ในส่วนนี้ “คนกลาง” ที่มีความเป็นกลางจริงๆ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากความขัดแย้งที่กำลังเกิด รู้จักกับครอบครัวเป็นอย่างดี และสมาชิกในครอบครัวให้ความเคารพ อาจเข้ามามีบทบาทช่วยดับไฟได้

2.อย่าใช้ธรรมนูญครอบครัวเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝง

            “ธรรมนูญครอบครัว” เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาส่วนรวมของครอบครัว การเขียนธรรมนูญครอบครัวเพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้น หากเป็นเพียงผลพลอยได้จากการเขียน สมาชิกอื่นๆ ก็อาจจะยังพอรับได้ แต่ถ้ามุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาส่วนตัวเป็นสำคัญแล้วละก็มันก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากสมาชิกคนอื่นๆ            ดังนั้น จึงควรมีการหารือกันในครอบครัวถึงประโยชน์และความจำเป็นในการเขียนธรรมนูญครอบครัวก่อนเพื่อให้สมาชิกมีความชัดเจนในเป้าหมายและเห็นถึงความจำเป็น แล้วค่อยเริ่มเขียนก็ยังไม่สาย ธรรมนูญที่เริ่มต้นจากการยอมรับและเห็นชอบร่วมกันของสมาชิก ย่อมมีความศักสิทธิ์ในตัวเองและสามารถใช้เป็นเครื่องมือของครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

3.ไม่เร่งรีบโดยให้เวลาสมาชิกได้ไตร่ตรอง

            เนื่องจากในการเขียนธรรมนูญครอบครัว “กระบวนการ” สำคัญกว่า “ผลลัพธ์” สิ่งที่ต้องระวัง ได้แก่ ไม่ควรดำเนินการเขียนธรรมนูญครอบครัวในรูปแบบของการดำเนินงานทางธุรกิจ เช่น ใช้ระบบสั่งงานแบบ Top-down ให้เดินหน้าเขียนอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้สมาชิกเกิดความไม่สบายใจได้ ควรมีเวลาให้สมาชิกได้คิดไตร่ตรองก่อนจะที่ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รับฟังเสียงของสมาชิกทุกคน อย่าให้เกิดคำถามเช่น “ทำไมต้องรีบนัก?” “ทำไมหรือ...อยากได้อะไร?” และแนะนำว่าทุกครั้งที่จะเริ่มหารือหัวข้อใหม่ ให้สรุปข้อตกลงในหัวข้อที่เพิ่งผ่านไปอีกครั้งว่าทุกคนยังเห็นด้วยหรือไม่ และมีใครต้องการแก้ไขเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ทุกครั้ง ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลามากขึ้นแต่ก็คุ้มค่าทุกวินาทีที่เสียไป

4.“ผู้ขับเคลื่อน” สร้างความยอมรับจากครอบครัว

            “ผู้ขับเคลื่อน” คือบุคคลที่จะสามารถดำเนินการให้การเขียนธรรมนูญครอบครัวสำเร็จได้ตามเป้าประสงค์ ผู้ขับเคลื่อนการเขียนธรรมนูญครอบครัวควรเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกครอบครัว หรือสมาชิกอาจรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้มีพลังในการผลักดันการเขียนธรรมนูญครอบครัวให้ลุล่วงได้
            จุดสำคัญก็คือ “ผู้ขับเคลื่อน” โครงการจะต้องมีความชัดเจนในเป้าหมาย ว่าคือประโยชน์ร่วมกันของครอบครัว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและเป็นกลาง และหาแรงสนับสนุนจาก “ผู้มีบารมี”  ในครอบครัว หรือ “ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด” ในครอบครัวก็จะทำให้การดำเนินงานราบรื่นยิ่งขึ้น

5.ค่อยๆ เขียนทีละเรื่อง และยินดีกับความสำเร็จไปทีละขั้น

            ธรรมนูญครอบครัวสามารถค่อยๆ เขียนไปทีละเรื่องได้ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวอยากจะเริ่มที่ประเด็นอะไรก่อน อาจจะมีประเด็นพื้นฐานบางประเด็นที่จำเป็นต้องคุยกันก่อนเรื่องอื่นๆ เช่น การกำหนดกติกาการตัดสินใจร่วมกัน หรือกติกาในการพูดคุยกัน ก่อนจะเริ่มต้นพูดคุยถึงเรื่องอื่นๆ
            ที่สำคัญคือ ครอบครัวจะต้องพยายามสะสม “ความสำเร็จ” ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดกำลังใจและโมเมนตัมที่จะเดินหน้าต่อไป สิ่งหนึ่งที่ผู้ขับเคลื่อนธรรมนูญครอบครัวพึงระลึกไว้เสมอก็คือ “ไม่ใช่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะซาบซึ้งหรือเห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่” ดังนั้น อย่าคาดหวังคำชมเชย แต่จงพอใจกับความสำเร็จในแต่ละขั้นของโครงการ

6.เริ่มเขียนจากประเด็นที่ไม่เป็นปัญหาก่อน

            นั่นก็คือ อย่าคิดใช้ธรรมนูญครอบครัวเป็นทางลัดในการแก้ปัญหาที่ครอบครัวกำลังประสบอยู่ ให้เริ่มจากเรื่องที่ไม่เป็นปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจแก่สมาชิกว่า “กระบวนการเขียนธรรมนูญ” นั้นมีความเป็นกลางและเป็นกระบวนการที่รับฟังความคิดเห็นของทุกคนโดยเฉพาะเสียงส่วนน้อย โดยอาจเริ่มจากเรื่องที่ทุกคนสนใจ ทุกคนได้ประโยชน์ก่อน (Common Interests) เมื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการได้แล้ว การขยับเข้าไปในเรื่องที่อ่อนไหวหรือเรื่องที่เป็นปัญหาจึงจะเป็นไปได้ ขอให้ครอบครัวพึงระลึกว่า “ความเชื่อมั่น” หรือ Trust ในกระบวนการเขียนธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สร้าง ความล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการอาจนำมาซึ่งความล้มเหลวของการเขียนธรรมนูญทั้งหมดได้

7.อย่ายอมแพ้...ถ้าคุณคิดว่ามันจะช่วยครอบครัวได้

            “ธรรมนูญครอบครัว” อาจไม่ใช่ทางออกเพียงหนึ่งเดียวของทุกครอบครัวอย่ายึดติดถ้าเกิดแรงต้านขึ้นในครอบครัว แต่หลักการพื้นฐานของการสื่อสาร กระบวนการตัดสินใจร่วมกันแบบสานเสวนาครอบครัว และการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างกันในประเด็นอ่อนไหวนั้น เชื่อได้แน่ว่าจะสามารถช่วยธุรกิจครอบครัวของคุณได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้น อย่าไปยึดติดว่าจะต้องมีธรรมนูญครอบครัว จะต้องเขียนมันออกมาให้ได้ หากครอบครัวยังไม่เข้าใจ ก็ขอให้กลับไปที่พื้นฐานก่อนว่าให้เราหันหน้ามาพูดคุยกันก่อนได้ไหม ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป Go slow to go fast” แต่ขออย่างเดียวคืออย่ายอมแพ้กับความไม่ใส่ใจ ความไม่เข้าใจ และความไม่เห็นด้วยต่างๆ เพราะทุกครอบครัวที่เขียนธรรมนูญสำเร็จนั้นต่างก็เคย “แพ้” มาก่อนแล้วทั้งนั้นเพียงแต่พวกเขาเลือกที่จะ “ไม่ยอมแพ้”

#FamilyBusiness #FamilyConstitution #ธุรกิจครอบครัว #ธรรมนูญครอบครัว