Wednesday, November 9, 2016

ธุรกิจครอบครัวในวันฝนซา


ธุรกิจครอบครัวในวันฝนซา

บทเรียนการสืบทอดธุรกิจครอบครัวของผู้นำรุ่นใหม่ที่ผ่านสมรภูมิมา (สักพัก) แล้ว


“To be trusted is a greater compliment than being loved.”
- George MacDonald


Cr. ภาพ นวพล วิริยะกุลกิจ


ถ้าย้อนเวลาได้ คุณคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร?”

ผมตั้งคำถามต่อ คุณต้น ทายาทธุรกิจครอบครัววัยสี่สิบต้นๆ ที่ผมเผอิญได้สนทนาด้วยในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ปัจจุบันคุณต้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจครอบครัวชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย ที่สำคัญคุณต้นเป็นผู้บริหาร สูงสุดจริงๆ ไม่ใช่แค่ตำแหน่งเพราะตอนนี้คุณพ่อคุณแม่วางมืออย่างจริงจังไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องการบริหารงานนานแล้ว

ทะเลาะกันได้...แต่อย่าให้รุนแรงและบานปลาย

ผมคงไม่ทำให้เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าครอบครัวคุณต้นตอบคำถามของผมด้วยนัยน์ตาที่เหมือนกำลังย้อนคิดไปถึงความขัดแย้งในอดีตที่ทำให้การกินข้าวร่วมกันของครอบครัวทุกวันอาทิตย์เปลี่ยนจากช่วงเวลาแห่งความสุขเป็นช่วงเวลาแห่งความอึดอัด

ผมเห็นด้วยกับคุณต้นนะ” “วิน ทายาทธุรกิจครอบครัวอีกท่านที่ ชนะใจพ่อแม่แล้วเช่นกันให้ความคิดเห็น คนในครอบครัวอาจจะทะเลาะกันได้ แต่อย่าให้รุนแรงและอย่าให้บานปลายจริงๆ แล้วถ้าครอบครัวสามารถควบคุมความขัดแย้งทางความคิดไม่ให้บานปลายกลายเป็นความรุนแรงได้อย่างที่คุณวินว่า ครอบครัวจะได้ประโยชน์อย่างมากจากความขัดแย้งนั้น เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นเมื่อผ่านพ้นมันไป ซึ่งแม้แต่นักสันติวิธีอย่าง ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อาจารย์ของผมก็ยังสนับสนุนให้คนทะเลาะกัน ท่านไม่เคยมองว่าความขัดแย้ง หรือการทะเลาะกันเป็นสิ่งไม่ดี ท่านมองว่ามันเป็น เรื่องปกติตราบใดที่เราไม่ปล่อยให้มันพัฒนากลายเป็นความรุนแรง

ความขัดแย้งในครั้งนั้นระหว่าง คุณต้นกับครอบครัวลากยาวนานหลายปีแต่จบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายยอมอ่อนเข้าหากัน ยอมรับฟังความเห็นที่ต่างกันและหาทางออกที่ทั้งสองฝ่าย ยอมรับได้ โดยมีคุณพ่อเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ยอม อ่อนลงเพื่อประคองให้ครอบครัวสามารถเดินไปด้วยกันได้

มื้อเย็นร่วมกันของวันอาทิตย์นั้นช่างเอร็ดอร่อยเสียเหลือเกิน

ทายาทต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน

            คุณต้นกำลังจะบอกผมว่าคนทั้งสองเจนเนอเรชั่นจะต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน แต่หลายๆ ครอบครัวอาจจะไม่ได้โชคดีขนาดนั้นนะ (ที่ผู้ใหญ่จะยอมอ่อนให้)ผมถามคุณต้นต่อ ใช่ครับ ต้องถือว่าเป็นโชคดีของผม... แต่ส่วนหนึ่งของโชคก็มาจาก การเปลี่ยนของตัวเราเองด้วย

คือต้องเข้าใจว่า ก่อนที่เราจะคิดไปเปลี่ยนแปลงใคร ผมว่าเราน่าจะเปลี่ยนตัวของเราเองก่อน โดยเฉพาะเรื่อง ทัศนคติ ผมเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อนจะไปเปลี่ยนความคิดของคุณพ่อหรือพี่น้องคนอื่นๆคุณต้นตอบคำถามของผมด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลแต่หนักแน่น

            คิดเหมือนกัน...สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานในธุรกิจครอบครัวก็คือ การปรับทัศนคติของตัวเอง’” คุณวินให้ความเห็นเสริม ผมเรียนรู้ที่จะมองทุกอย่างในด้านบวก ถ้าถูกต่อว่าจากคุณพ่อคุณแม่ก็ให้มองว่าได้เรียนรู้ คือได้เรียนลัดจากประสบการณ์หลายสิบปีของท่าน... แม้ว่ามันอาจจะเป็นคำพูดที่ไม่ได้เพราะเสนาะหูนักก็ตาม” “คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า คนเราคิดแตกต่างกัน การเห็นต่างกันทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น พ่อแม่เห็นต่างกับเราจึงทำให้เราได้ไตร่ตรองความคิดของเราอีกครั้งให้รอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี คุณต้นให้ความเห็นเพิ่มเติม

            ต้องเข้าใจอีกว่า คุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้เกิดมาเป็นครู” “ดังนั้น หากเราจะมานั่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมพ่อแม่ไม่ทำอย่างนั้น ไม่พูดอย่างนี้ ไม่สอนอย่างนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนักคุณวินยกประเด็นเรื่องที่ทำให้ทายาทธุรกิจครอบครัวหลายต่อหลายคนต้องปวดใจเมื่อถูกพ่อแม่ต่อว่าต่อขาน

อุปสรรคนั้นมีอยู่ตลอดเวลา...ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ปัญหา!      

อะไรคืออุปสรรคครั้งสำคัญในช่วงที่ผ่านมาในฐานะทายาทธุรกิจครอบครัว?” ผมยิงคำถามต่อ

            อุปสรรคมีอยู่ตลอดครับ ที่สำคัญคือต้องตั้งสติให้ดีคุณวินตอบอย่างรวดเร็ว อุปสรรคเมื่อมีอยู่ตลอดเวลา อุปสรรคจึงไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่เราจะต้องก้าวข้ามไปคุณต้นแชร์แนวคิดที่น่าสนใจที่สะท้อนการ คิดบวกของคนทั้งคู่

            ย้อนกลับไปว่า...ทำไมทั้งสองคนถึงเลือกที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว?”

            “เป็นอุบัติเหตุครับ... คือมันเป็นอุบัติเหตุจริงๆ! คุณแม่ผมประสบอุบัติเหตุ ผมจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเข้ามาช่วยท่านในช่วงที่ท่านยังไม่หายดี แต่จากวันนั้นก็ยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ประมาณ 16 ปีล่ะคุณวินแชร์ประสบการณ์จับพลัดจับพลู่ที่ทำให้ต้องมาทำงานในธุรกิจครอบครัว ส่วนผมนี่เรียนจบก็ถูกเรียกตัวให้เข้ามาช่วยกิจการที่บ้านทันที ไม่ได้มีโอกาสไปทำงานเรียนรู้จากที่อื่นเลย และพอเข้ามาก็อย่างที่คุณวินพูด พ่อแม่ไม่ได้เกิดมาเป็นครู ผมจึงต้องใช้วิธีเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้จากทุกคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ได้มีใครมานั่งสอนงาน เห็นทีทายาทธุรกิจครอบครัวของเราจะต้องฝึกฝนสกิล ครูพักลักจำ กันให้ดี

ธุรกิจครอบครัวสอนให้รู้จักรับผิดชอบและมีความอดทน

            “ประสบการณ์จากการที่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัว สอนอะไรคุณบ้าง?” ผมถามเพื่อนทั้งสองคน
            สำหรับผมมันคือความรับผิดชอบ มันเป็นความรับผิดชอบมาตั้งแต่ต้นและก็ยังคือสิ่งนั้นจนถึงทุกวันนี้คุณวินแชร์ความคิดที่ทายาทหลายๆ คนน่าจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก สำหรับผม ธุรกิจครอบครัวสอนผมเรื่องความอดทน ถ้าขาดสิ่งนี้ ผมคงจะออกจากธุรกิจครอบครัวไปนานแล้ว” “ความอดทนเพื่อจะพิสูจน์ตัวเอง (กับพ่อแม่) คือแรงขับดันของผม และถ้าผมจะฝากอะไรถึงคุณพ่อคุณแม่ของครอบครัวอื่นๆ ได้ซักอย่าง ผมอยากจะฝากให้ท่านเปิดช่องให้ลูกๆ ของท่านได้แสดงฝีมือ ซึ่งนั้นจะทำให้พวกเขาได้เติบโตอย่างแท้จริง คิดต่างกันให้มาร่วมกัน คุณพ่อคุณแม่มีประสบการณ์ ลูกๆ มีพลังล้นเหลือ...แต่ก็ต้องรู้จักฟังคนอื่นด้วยคุณต้นฝากข้อคิดไปถึงคนทั้งสองเจนเนอเรชั่น

ชนะใจพ่อแม่เป็น Long-term Project

            มาถึงคำถามที่ผมอยากรู้และคิดว่าทายาทธุรกิจครอบครัวหลายคนก็คงอยากจะรู้เหมือนกัน ใช้เวลานานแค่ไหนในการ ชนะใจพ่อแม่?” เพื่อนทั้งสองคนนั่งนิ่งกันไปซักพัก สายตามองขึ้นฟ้า ดูเหมือนกำลังใช้พลังความคิดกันอย่างเต็มที่ คุณต้นตอบก่อนเป็นคนแรก ผมคิดว่าน่าจะประมาณ 10 ปีหลังจากเริ่มเข้ามาทำงานที่บ้าน ...คือที่คิดว่าชนะใจเค้าได้แล้วก็คือ ปีนั้นคุณพ่อคุณแม่ไปเที่ยวกัน 9 ครั้ง! ก็เลยคิดว่า เขาคงไว้ใจเราแล้วล่ะ คุณต้นกล่าวด้วยใบหน้าเจือรอยยิ้ม

น่าสนใจมาก! ผมคิดในใจ...ถือเป็น ตัวชี้วัดความไว้วางใจของพ่อแม่ที่มีต่อทายาทรุ่นใหม่ที่น่าสนใจเลยทีเดียว คุณวินตามมาด้วยตัวเลขคร่าวๆ ที่ 6-11 ปี ผมคิดจะถามคุณวินต่อว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มไปเที่ยวถี่ๆ ในปีไหนเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจนซักตัวหนึ่ง แต่หยุดไว้ที่ตรงนั้นไม่ได้ถามออกไปเพราะคิดว่ายังไงตัวเลขก็คงไม่ได้ลดไปกว่านี้ซักเท่าไหร่

            สารถึงทายาทธุรกิจรุ่นใหม่จากพี่ๆ 2 คนที่ผ่านมาแล้วกับ สมรภูมิที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ปมขัดแย้ง และอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่เมื่อวันที่ฝนซาฟ้าใส... ในบ่ายวันนั้นที่เราได้มานั่งคุยกัน ผมได้เห็นแววตาของผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความสุขคละเคล้ากับความภูมิใจที่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัวของพวกเขา

สรุปประเด็นสำคัญ

1)        อุปสรรคนั้นมีอยู่ตลอดเวลา...ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ปัญหา!     
2)        ทายาทต้องเริ่มจากปรับทัศนคติของตัวเองก่อนโดยเฉพาะการ คิดบวก
3)        ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ทะเลาะกันได้...แต่อย่าให้รุนแรงบานปลาย
4)        ธุรกิจครอบครัวสอนให้รู้จักรับผิดชอบและมีความอดทน
5)        “ชนะใจพ่อแม่” เป็น Long-term Project ที่มีโอกาสสำเร็จสูงถ้าไม่ถอดใจไปเสียก่อน




1 comment: